27 ธ.ค. 2566 1,014 1

ส่องพฤติกรรมคนไทยกับการรับมือภัยไซเบอร์ในปี 2566 โดย AIS อุ่นใจ CYBER

ส่องพฤติกรรมคนไทยกับการรับมือภัยไซเบอร์ในปี 2566 โดย AIS อุ่นใจ CYBER

จากข้อมูลของตำรวจไซเบอร์พบว่าตั้งแต่ 1 มีนาคม 2565 ถึง เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา มีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยไซเบอร์รวมมากกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญสะท้อนถึงระดับความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์กำลังเผชิญอยู่ในทุกๆ วัน


สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากภารกิจสำคัญของ AIS ในการเสริมสร้างทักษะและความปลอดภัยในทุกการใช้งานบนดิจิทัลผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ที่เป็นแกนกลางสร้างเครือข่าย ร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางบวกให้กับสังคมดิจิทัลของไทย ทำให้เราเห็นถึงพฤติกรรมและข้อมูลที่น่าสนใจในการนำไปต่อยอด เพื่อร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ เสริมภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ให้กับลูกค้าและคนไทย เพราะนอกเหนือจากมูลค่าความเสียหายจากภัยไซเบอร์แล้ว สถิติจากตำรวจไซเบอร์ยังชี้ให้เห็นว่า รูปแบบของปัญหาที่คนส่วนใหญ่ยังคงโดนหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราคุ้นเคยกันอย่างมากในชีวิตประจำวัน คือการหลอกให้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ถือเป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้คนสูญเสียเงินไปกว่า 2,306 ล้านบาท ตามมาด้วยหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริม และหลอกให้กู้เงิน ประกอบกับข้อมูลจากสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center พบว่า มีลูกค้าแจ้งเบอร์โทร และ SMS ที่คาดว่าจะเป็นมิจฉาชีพกว่า 1.6 ล้านครั้งตั้งแต่เปิดให้บริการ ซึ่งได้มีการตรวจสอบและนำไปสู่การจับกุมมิจฉาชีพได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา

สายชล ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงข้อมูลข้อมูลล่าสุดที่วัดระดับทักษะด้านดิจิทัลของคนไทย อย่าง Thailand Cyber Wellness Index ของปี 2023 ที่ริเริ่มจัดทำโดย AIS ว่าเป็นอีกหนึ่งชุดข้อมูลที่สำคัญ ซึ่งทำให้เห็นถึงพฤติกรรมและความเข้าใจการใช้งานและรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น

·    กลุ่มผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้ความเข้าใจ และทักษะการใช้งานด้านดิจิทัล

·    คนไทยภาคเหนือ และภาคตะวันตก มีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์มากกว่าภาคอื่นๆ จากผลการศึกษาถึงระดับทักษะดิจิทัล

·    คนไทยส่วนใหญ่กว่า 87.97% มีความเข้าใจ และรู้ทันปัญหาการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ หรือ ไซเบอร์บูลลี่

·    ในขณะที่ยังมีทักษะสำคัญต่อการรับมือกับภัยไซเบอร์ ที่คนไทยยังต้องพัฒนาเพิ่มเติม ซึ่งแน่นอนว่าการมีทักษะดิจิทัลเหล่านี้จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันและสามารถรับมือกับภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานได้

- 48.60% ด้านความเข้าใจในสิทธิทางดิจิทัล

- 49.83% ด้านการแสดงความสัมพันธ์ทางดิจิทัล

- 51.80% ด้านการสื่อสาร และ การทำงานร่วมกับบนดิจิทัล


จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล ประกอบกับตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงจากการโดนหลอกลวง ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเสริมสร้าง พัฒนาทักษะดิจิทัล เพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในทุกมิติ ทั้งทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะ ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration), ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) เพื่อยกระดับสุขภาวะและทักษะดิจิทัลของคนไทย ให้สามารถใช้งานบนออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์” สายชล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร สามารถติดต่อมาได้ที่ aissustainability@ais.co.th 

เกี่ยวกับ AIS

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจด้วยฐานลูกค้ารวมกว่า 49.1 ล้านราย ได้แก่ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ บนโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ด้วยคลื่นความถี่มากที่สุดรวม 1460 MHz ที่มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 44.4 ล้านเลขหมาย, ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS 3BB Fibre3 ด้วยจำนวนผู้ใช้งานกว่า 4.7 ล้านราย, ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร และธุรกิจบริการดิจิทัล  ทั้งหมดนี้เพื่อเดินหน้าตามวิสัยทัศน์สู่องค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ -  Cognitive Tech-Co สนับสนุนความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัลและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พบกับเราได้ที่ www.ais.th   (ข้อมูล ณ กันยายน 2566)