9 ม.ค. 2567 537 49

ดีอี เปิด 5 เคสตัวอย่างรับปีมังกรดุ หลัง AOC 1441 รับแจ้งเหตุ ผู้เสียหายสูญเงินรวมกว่า 28 ลบ. มิจฯ หลอกให้รัก หลอกให้ลงทุน หลอกให้ลงแอพ Remote access

ดีอี เปิด 5 เคสตัวอย่างรับปีมังกรดุ หลัง AOC 1441 รับแจ้งเหตุ ผู้เสียหายสูญเงินรวมกว่า 28 ลบ. มิจฯ หลอกให้รัก หลอกให้ลงทุน หลอกให้ลงแอพ Remote access
วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่าจากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 1-5 มกราคมที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบ โดยมีเคสตัวอย่าง 5 คดี ดังนี้

คดีที่ 1 หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance scam) มูลค่าความเสียหาย 1.9 ล้านบาท รายละเอียดคดี คือ ผู้เสียหายรู้จักกับคนร้ายที่ติดต่อมาผ่านช่องทาง Facebook ต่อมาได้พูดคุยผ่านช่องทาง Line เริ่มพูดคุยกันจนสนิทใจและได้หลอกให้โอนเงินเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อ้างว่าเดือดร้อนเรื่องเงิน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้โอนเงินไป ปัจจุบันทำการติดต่อไม่ได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 1.25 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักกับทางมิจฉาชีพที่ติดต่อมาผ่านช่องทาง Facebook ต่อมาได้พูดคุยผ่านช่องทาง Line และหลอกให้ลงทุนอ้างว่าเป็นการลงทุนผ่าน www.clubshopmall.com โดยต้องแลกเงินสกุลไทยเป็นเงินสกุลดอลลาร์เพื่อเป็นเงินทุนในร้านค้า ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไป ผ่านแพลตฟอร์ม Bittaza เพื่อแลกเป็นเงินสกุลดอลลาร์ เมื่อผู้เสียหายโอนเงิน ไปแล้ว ไม่สามารถเอาเงินออกจากระบบได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 1.21 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพที่ติดต่อมาผ่านช่องทาง Facebook ใช้ชื่อว่า Steluke ต่อมา ได้พูดคุยผ่านช่องทาง Line และชักชวนให้ลงทุน Forex โดยให้ทำการลงทุนเพื่อจะได้ ค่าคอมมิชชั่นจึงได้โอนเงินไปหลายครั้ง แต่พอลงทุนเงินเพิ่มก็ไม่สามารถถอนออกได้ ทั้งยัง อ้างว่าต้องชำระค่าภาษี ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปแต่ก็ยังไม่สามารถถอนเงินออกมาได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 4 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพโทรหาผู้เสียหาย แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีกรมที่ดิน ต่อมาได้มีการพูดคุยผ่านช่องทาง Line หลอกลวงให้ติดตั้งแอพพลิเคชันของกรมที่ดินให้ทำการสแกนใบหน้า จากนั้นปรากฏว่าโทรศัพท์ถูกล็อกไม่สามารถเข้าใช้งานได้ และทราบว่าเงินในบัญชีธนาคารของผู้เสียหายถูกโอนออกไปจากบัญชีของตน ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และ คดีที่ 5 หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 20 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook แล้วได้มีการติดต่อพูดคุยกันผ่านช่องทาง Line ต่อมามิจฉาชีพได้มีการชักชวนผู้เสียหายลงทุนเทรดหุ้นผ่านแพลตฟอร์มที่ส่งมาให้ ซึ่งอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อและได้โอนเงินไปลงทุนตามคำแนะนำ แต่เมื่อต้องการถอนเงินไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก

ซึ่งทั้ง5 คดี ได้ติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ AOC 1441 รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดีมากกว่า 28 ล้านบาท ดีอี ขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook และ Line เนื่องจาก 5 คดีที่กล่าวมา มิจฉาชีพติดต่อกับผู้เสียหายผ่าน Facebook จากนั้นมิจฉาชีพจะขอ Line ผู้เสียหาย เพื่อขอให้ผู้เสียหายมีการพูดคุยผ่าน Line ก่อนที่จะหลอกให้มีการโอนเงินผ่านออนไลน์ไปยังบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ

“ดีอี ขอเตือนภัยกับทุกท่าน ที่จะพูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่คุ้นเคยที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย จากนั้นขอพูดคุยสานต่อขอเป็นคนรัก ขอชวนลงทุน ขอให้ช่วยโหลดโปรแกรมต่างๆ ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง