การเปิดตัว Apple App Store และ Google Play Store เมื่อหลายสิบปีก่อน ได้เปิดประตูให้ผู้คนและธุรกิจ สามารถก้าวสู่โลกดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ด้วยการคิดค้นและเสนอไอเดียต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์สมาร์ตโฟนไปยังผู้คนทั่วโลก ทำให้วิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ และการทำงานของผู้คนเปลี่ยนไปตลอดกาล
นับตั้งแต่การเปิดตัว App Store เมื่อ 15 ปีที่แล้ว จนถึงการเปิดตัวของ Play Store 4 ปีถัดมา แอปพลิเคชันบนมือถือกลายเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การพักผ่อน ไลฟ์สไตล์ รวมถึงการทำงานและทำธุรกิจ แอปพลิเคชันบนมือถือได้เปลี่ยนวิธีที่ผู้คนสัมผัสกับเทคโนโลยี และวิธีที่ธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมกับลูกค้า จากที่ครั้งหนึ่งเจ้ากล่องสี่เหลี่ยมนี้เคยเป็นแค่โทรศัพท์ แต่แอปพลิเคชันได้เปลี่ยนมือถือให้เป็นกระเป๋าสตางค์ เป็นเครื่องเล่นเกม เป็นโทรทัศน์ และเป็นอีกหลายอย่างตามแต่ที่จินตนการจะนึกถึง
เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการเริ่มต้นของปี 2567 แอ๊พซินท์ (Appsynth) หนึ่งในที่ปรึกษาด้านดิจิทัลรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคและผู้เชี่ยวชาญด้านแอปบนสมาร์ตโฟนชั้นนำของไทย ได้ร่วมกับ data.ai แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลมือถือ เปิดเผยผลการจัดอันดับข้อมูลท็อป 20 แอปขององค์กรไทยที่มีการดาวน์โหลดสูงสุด นับตั้งแต่เปิดสโตร์จนถึงปัจจุบัน โดยรายงานนี้จะจัดกลุ่มแอปที่มีการดาวน์โหลดสูงสุดตามหมวดหมู่ และดูปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดความสำเร็จ นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตสำหรับแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน
แอปบริการทางการเงินครองแชมป์
จากรายชื่อแอปพลิเคชันมือถือที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด 20 อันดับของไทย พบว่ามีแอปพลิเคชันในภาคบริการทางการเงินถึง 9 แอปจากธนาคาร 7 แห่ง ซึ่งครอบคลุมถึงบริการกระเป๋าเงินดิจิทัล บริการการชำระเงิน และแอปพลิเคชันธนาคารบนสมาร์ตโฟน โดยมี 2 แอปที่ให้บริการโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคาร
แม้แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ในหมวดนี้จะเป็นแอปที่ให้บริการโดยธนาคารพาณิชย์ แต่เป็นที่น่าสนใจว่าแอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุด คือแอป TrueMoney ให้บริการโดย ทรู คอร์ปอเรชัน โดยเมื่อ 5 ปีที่แล้วแอป TrueMoney เคยอยู่ในลำดับที่ 6 การไต่ระดับสู่แอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดของ TrueMoney ตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากฟินเทคและโซลูชันทางการเงินแบบฝังตัว (embedded finance solutions) ที่ช่วยทั้งขยายขีดความสามารถ และยกระดับบริการของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร
TrueMoney (ชื่อเดิม Wallet by TrueMoney) เปิดตัวในปี 2556 ในฐานะผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล ปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอด ให้เป็นแอปพลิเคชันอเนกประสงค์ในชีวิตประจำวัน มีฟีเจอร์อื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการชำระเงินแบบเดิม ทั้งบริการชำระเงินค่าสาธารณูปโภค การเติมเงินโทรศัพท์มือถือ การออมและการลงทุน รวมถึงการโอนเงินแบบ peer-to-peer นอกจากนี้แล้วแอป TrueMoney ยังมีแคมเปญที่ช่วยดึงดูดและรักษาความสัมพันธ์กับผู้ใช้งาน ให้สามารถสะสมคะแนนเพื่อใช้แลกเป็นส่วนลดและของรางวัลต่าง ๆ ได้ด้วย
นอกจากนี้แล้วในกลุ่มแอปที่มีการดาวน์โหลดสูงสุด 5 อันดับแรก ยังประกอบไปด้วยแอปจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย ได้แก่ K PLUS จากธนาคารกสิกรไทย Krungthai NEXT จากธนาคารกรุงไทย และ SCB EASY จากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ยังคงรั้งตำแหน่ง 5 อันดับแรกอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเช่นเดียวกับ TrueMoney แอปพลิเคชันเหล่านี้ได้แตกบริการใหม่ ๆ นอกเหนือไปจากบริการหลัก เช่น ประกัน สินเชื่อ และโปรแกรมสะสมแต้ม
การพัฒนาและปรับตัวของแอปพลิเคชันเหล่านี้ เป็นการยืนยันว่า การที่แอปพลิเคชันจะครองใจผู้ใช้งานและประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่องนั้นจะต้องมีการปรับจากแอปที่ให้บริการผลิตภัณฑ์หลักเพียงอย่างเดียว สู่การให้ความสำคัญกับผู้ใช้งาน เอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และสามารถที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีและมีคุณค่าอย่างแท้จริง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์เคลื่อนที่สูงที่สุดประเทศหนึ่ง สะท้อนถึงความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน ด้วยสภาพแวดล้อมที่ประชาชนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเช่นนี้ แอปพลิเคชันที่มีบริการหรือฟังก์ชันเพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถที่จะแข่งขันได้อีกต่อไป ผู้ใช้งานปัจจุบันคาดหวังบริการที่หลากหลายแทนการสลับไปมาระหว่างแอป ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ หันมาให้ความสำคัญกับการมอบประสบการณ์แบบองค์รวมมากขึ้น มุ่งหวังให้แอปของตนเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ในใจผู้ใช้ และเป็นจุดเริ่มต้นหลักสำหรับชีวิตดิจิทัลของลูกค้า
ในโอกาสนี้ มนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการ ทรูมันนี่ กล่าวว่า “ทรูมันนี่ ขอขอบคุณผู้ใช้งานที่มอบความไว้วางใจและเลือกใช้ทรูมันนี่ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ การที่แอปของเรามียอดดาวน์โหลดมากที่สุดนั้น สะท้อนถึงพันธกิจขององค์กรของเราที่ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางการเงินได้ และช่วยยกระดับชีวิตของทุกคนให้ดียิ่งขึ้น ความสำเร็จนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทีมงานของเราพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมใหม่ ๆ ไม่หยุดยั้ง รวมถึงยกระดับประสบการณ์ในการใช้งานให้ง่ายยิ่งขึ้น และเป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยและมอบคุณค่าในทุกการใช้งานแก่ผู้ใช้ทุกคน”
นิธิรุจน์ จิระปรีชาสิทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส - ผู้บริหารฝ่ายบริหารช่องทางธุรกิจดิจิทัล ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “K PLUS มุ่งมั่นที่จะเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียเป็นศูนย์กลาง โดยส่งมอบบริการทางการเงินระดับโลก และคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับทุกฝ่าย”
นิธิรุจน์กล่าวเสริมว่า “เราได้พัฒนา K PLUS โดยใช้แนวทางที่ยึดความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (ได้แก่ ลูกค้า สังคม หน่วยงานกำกับดูแล พนักงาน และผู้ถือหุ้น) ตั้งเป็นหลักแล้วจึงกำหนดแผนดำเนินการทั้งหมดเพื่อให้แน่ใจว่าฟีเจอร์ต่างๆ ที่ได้พัฒนาออกมา ตอบโจทย์ความต้องการของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ทั้งนี้ K PLUS มุ่งหวังที่จะเป็นแพลตฟอร์มแบบ open Banking ที่ผสานบริการทางการเงิน เข้ากับไลฟ์สไตล์ดิจิทัลของผู้ใช้ได้อย่างลงตัว ช่วยให้ผู้ใช้งาน สามารถทำธุรกรรมได้อย่างง่ายและสะดวกใน ecosystem ของตนเอง รวมถึงสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารได้อย่างง่ายดาย ในขณะเดียวกัน ก็มอบประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยม และรักษามาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงสุด สิ่งเหล่านี้คือ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของเรา และเราจะสร้างสรรค์และปรับปรุงแอปพลิเคชันของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไป”
บริการฟู้ดเดลิเวอรีและร้านสะดวกซื้อครองตำแหน่งสูงถึง 2 ตำแหน่ง
ในส่วนของบริการฟู้ดเดลิเวอรี ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ มีถึง 2 แอปดังที่อยู่ในลำดับต้น ๆ ของการจัดอันดับ ที่น่าจับตามองคือ 7-Eleven เติบโตแบบก้าวกระโดดโดยครองอันดับที่ 5 ของรายการ เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 15 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
สุพัตรา จินเลิศ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาด ซีพี ออลล์ กล่าวว่า " วิสัยทัศน์ของซีพีออลล์ คือเราให้บริการความสะดวกแก่ทุกชุมชน และการเปิดตัวบริการ 7-Delivery ถือเป็นการยกระดับความสะดวกให้กับลูกค้าขึ้นไปอีกขั้น บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้านลูกค้า ด้วยพนักงานร้านเที่มีความคุ้นเคยกับลูกค้าอยู่แล้ว ทำให้ 7-Delivery เติบโตอย่างรวดเร็วจนมีฐานผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านคน ด้วยสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและหลากหลาย รวมถึงแคมเปญการตลาดต่าง ๆ ทำให้แอป 7-Eleven เป็นอีกแอปพลิเคชันที่ผู้บริโภคชาวไทยใช้ในชีวิตประจำวัน"
ภาพรวมของวงการฟู้ดเดลิเวอรีในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ผู้เล่นรายใหญ่ ๆ ในตลาดได้ปรับกลยุทธ์จากการเป็นเพียงสื่อกลางที่ช่วยเชื่อมผู้บริโภคกับร้านอาหารหากัน ไปสู่บริการที่เต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการร้านอาหาร และในฝั่งของผู้บริโภคด้วย เร็ว ๆ นี้ ยังพบว่ามีการจับมือกันของผู้ให้บริการข้ามแพลตฟอร์มมากขึ้น เพื่อสร้างโซลูชันใหม่ ๆ ที่ผนวกเอาเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาปรับใช้ในวงการร้านอาหาร ผสานประสบการณ์ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์อย่างลงตัว
ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า “LINE MAN ในฐานะ Food Master เป็นแพลตฟอร์มออนดีมานด์ที่มีตัวเลือกร้านอาหารมากที่สุดในไทย โดยมีมากกว่า 1 ล้านร้านทั่วประเทศ และส่งมอบบริการแก่ผู้บริโภคในราคาที่คุ้มค่า ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน ให้บริการครอบคลุมทั้งบริการส่งอาหารและสินค้า เมสเซนเจอร์ และการเดินทาง”
แอปหมวดความบันเทิงและบริการสื่อผ่านอินเทอร์เน็ต (Over-the-top หรือ OTT) ครองใจผู้ใช้
ในหมวดความบันเทิงและสตรีมมิ่ง OTT มีแอปพลิเคชันติดอันดับท็อป 20 ถึง 6 แอป ทั้ง TRUE ID, AIS Play, Ch7HD, Major Cineplex, BUGABOO.TV และ CH3 Plus โดยมีแอปพลิเคชันที่ให้บริการโดยสถานีโทรทัศน์ถึง 3 แอป โดยแอป Ch7HD และ BUGABOO.TV นั้นเป็นของช่อง 7 ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากผู้ชมในปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่
แม้บริการสตรีมวิดีโอแบบออนดีมานด์ (on-demand video streaming) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชัน Major Cineplex ยังคงติดอันดับท็อป 20 แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการสตรีมบนมือถือและหน้าจอทีวีเป็นจำนวนมาก แต่โรงภาพยนตร์ยังคงเป็นสถานที่ที่ผู้บริโภคชาวไทยไปสัมผัสประสบการณ์ที่ไม่สามารถทดแทนได้ที่บ้าน
ค่ายมือถือชั้นนำติดอันดับทั้งหมด
ผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 ราย คือ ทรู เอไอเอส และดีแทค ก็ติดอันดับเช่นกัน ในอดีตผู้ใช้บริการมักติดภาพแอปพลิเคชันเหล่านี้ว่าเป็นบริการสาธารณูปโภคทั่วไป แต่ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการได้พัฒนาแอปให้มีฟังก์ชันที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ใช้เพื่อชำระค่าบริการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่มีทั้งสื่อบันเทิงและโปรโมชันสะสมแต้มที่ช่วยดึงดูดผู้ใช้งาน และช่วยรักษาความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นระหว่างลูกค้าและแบรนด์
App Store เปิดตัวในปี 2551 ด้วยแอปพลิเคชันบนสโตร์ 500 แอปพลิเคชัน ล่าสุดในปี 2566 มีแอปบนสโตร์มากกว่า 1.96 ล้านแอปพลิเคชัน ส่วนแอนดรอย์มีแอปพลิเคชัน 3.7 ล้านแอปบน Google Play ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าผู้ใช้งานมากถึง 25% ตัดสินใจเลิกใช้งานแอปหลังจากการใช้งานครั้งแรก แบรนด์ต่าง ๆ ที่กำลังคิดจะสร้างแอป หรือวางแผนอนาคตสำหรับแอปขององค์กร จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติเด่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานเกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
โรเบิร์ต แกลลาเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊พซินท์ เอเชีย จำกัด ให้ความคิดเห็นว่า “เราภูมิใจที่ได้รับโอกาสร่วมงานกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหลาย ๆ รายที่ปรากฏในการจัดอันดับนี้ บทบาทของแอ๊พซินท์คือช่วยผลักดันให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดจากการลงทุนด้านดิจิทัลขององค์กรที่เราได้ร่วมงานด้วย จะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชันที่อยู่ใน 10 ลำดับแรกกำลังผันตัวสู่การเป็น super app คือมีการเพิ่มบริการใหม่ ๆ นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์หลักออกมา เพื่อที่จะส่งมอบคุณค่าสูงสุดสู่มือผู้ใช้งาน และการที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เปิดให้ third-party ได้เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ จะเป็นการเปิดโอกาสได้อีกมาก เรามองว่าเทรนด์ super app และ นวัตกรรมแบบเปิด (open innovation) จะมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตการพัฒนาแอป ทั้งในปี 2567 นี้ และปีถัด ๆ ไป”
หมายเหตุ
สถิติท็อปดาวน์โหลดเป็นข้อมูลรวบรวมจาก App Store ระหว่างเดือน กรกฎาคม 2551 - ธันวาคม 2566 และ Play Store ในช่วงเดือนมีนาคม 2555 - ธันวาคม 2566
เกี่ยวกับแอ๊พซินท์ (Appsynth)
แอ๊พซินท์ (Appsynth) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลชั้นนำของไทย มีทีมงานเชี่ยวชาญด้านแอปพลิเคชันมือถือและผลิตภัณฑ์ดิจิทัลกว่า 130 คน บริการของแอ๊พซินท์ครอบคลุมตั้งแต่ การวางกลยุทธ การวิจัยผู้ใช้งาน การดีไซน์ประสบการณ์สำหรับผู้ใช้งาน UX/UI การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ข้อมูล และการตลาด ในปี 2566 บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับโดย Financial Times ให้เป็นบริษัทไอทีที่เติบโตเร็วที่สุดไนไทย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม www.appsynth.net