16 ม.ค. 2567 354 0

AOC 1441 เผยเคสตัวอย่างรายสัปดาห์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังมาแรง หลอกให้กลัว สูญเงิน 200 ลบ.

AOC 1441 เผยเคสตัวอย่างรายสัปดาห์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยังมาแรง หลอกให้กลัว สูญเงิน 200 ลบ.
วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 8 – 12 มกราคม ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย

คดีที่ 1 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 200 ล้านบาท รายละเอียดคดี คือ ผู้เสียหายถูกหลอกลวงจากแก๊ง Call Center โดยอ้างว่าผู้เสียหายมีความเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงิน ได้ติดต่อมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ทำการโอนเงินเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน และจะโอนเงินกลับคืนผู้เสียหายภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปตามคำแนะนำ สุดท้ายไม่มีการโอนเงินคืนกลับมา ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 2 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 11.78 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักกับมิจฉาชีพโดยติดต่อผ่านช่องทาง Facebook และได้ขอเพิ่มเพื่อน ผ่านช่องทาง Line พูดคุยเรื่อยมาจนสนิทกัน ต่อมามิจฉาชีพชักชวนผู้เสียหายลงทุนเทรดหุ้นซึ่งอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปลงทุนเป็นจำนวนหลายครั้ง แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 3 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 5,148,285 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายพบโฆษณาชักชวนหารายได้พิเศษผ่านช่องทาง Facebook จึงได้ติดต่อไปสอบถามข้อมูล จากนั้นได้เพิ่มเพื่อนผ่านช่องทาง Line กับมิจฉาชีพ และได้มีการให้ทำภารกิจ กด Link ที่หน้า Web ของ Central เพื่อรับค่าคอมมิชชันตอบแทน ผู้เสียหายเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนจึงได้โอนเงินตามข้อตกลงในการทำภารกิจจำนวนหลายครั้ง แต่เมื่อต้องการถอนเงินออกมา ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

คดีที่ 4 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 1,070,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพโทรหาผู้เสียหาย แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย แจ้งว่ามีการถอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย จากนั้นได้โอนสายให้คุยกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อแจ้งความ ต่อมามิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายมีการเปิดบัญชีม้าจะต้องทำการโอนเงินไปตรวจสอบเส้นทางการเงิน ผู้เสียหายจึงได้หลงเชื่อและทำการโอนเงินไป ภายหลังผู้เสียหายไม่ได้รับเงินคืน ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก

และ คดีที่ 5 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 1.4 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้ถูกมิจฉาชีพติดต่อเข้ามาผ่านช่องทาง Facebook อ้างว่า ผู้เสียหายเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท โดยต้องโอนเงินชำระค่าภาษี และ ค่าดำเนินการอื่น ๆ ผู้เสียหายโอนเงินไปก็บอกว่าทำรายการผิดระบบจึงทำการล็อกไว้ ต้องโอนเงินเพื่อทำการปลดล็อกระบบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดีร่วม 220 ล้านบาท

ดีอี ขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล เนื่องจาก 5 คดีที่กล่าวมา มิจฉาชีพได้โทรศัพท์ข่มขู่ให้เกิดความกลัว ก่อนที่จะหลอกให้มีการโอนเงินผ่านออนไลน์ไปยังบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ

ดีอี ขอเตือนภัยกับทุกท่าน ให้สังเกต และงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้ นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง