วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 15 – 19 มกราคม ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) มูลค่าความเสียหาย 2 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักคนร้านผ่านช่องทาง Facebook แล้วได้ติดต่อกันผ่านช่องทาง Line จนสนิทสนมเกิดเป็นความรัก จากนั้นคนร้ายอ้างว่าจะส่งเงินและทองคำมาให้ผู้เสียหายเก็บรักษาไว้ แต่ต้องมีการชำระเงินค่าภาษีในการส่งสินค้า โดยคนร้ายบอกให้ผู้เสียหายโอนเงินดังกล่าวไปให้ก่อน ผู้เสียหลงเชื่อและได้โอนเงินไปให้คนร้าย สุดท้ายไม่สามารถติดต่อคนร้ายได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 3.66 ล้านบาท รายละเอียดคดี คือ มิจฉาชีพโทรเข้ามาหาผู้เสียหายอ้างว่า เป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทยแจ้งว่ามีพัสดุส่งมาจากต่างประเทศเป็นสินค้าผิดกฎหมาย โดยให้ติดต่อกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าอยู่ สภ. ภูเก็ต ผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงินและให้เข้าแอปพลิเคชันนาคารกรุงเทพเพื่อ โอนเงินไปปลดล็อก เนื่องจากผู้เสียหายเพิ่งกลับจากเดินทางต่างประเทศจึงหลงเชื่อและได้โอนเงินไปจนหมดบัญชี มิจฉาชีพแจ้งให้ผู้เสียหายลบข้อมูลหลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 1.6 ล้านบาท รายละเอียดคดี พบว่า คนร้ายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง โทรศัพท์มาแจ้งกับผู้เสียหายว่าได้รับเงินบำเหน็จตกทอด จากนั้นได้ทำการติดต่อผ่านช่องทาง Line คนร้ายให้ผู้เสียหายติดตั้ง แอปพลิเคชันของกรมบัญชีกลางที่คนร้ายส่งมาให้ เพื่อทำการตรวจสอบข้อมูล ผู้เสียหาย ทำตามคำแนะนำของคนร้าย ต่อมาภายหลังพบว่ายอดเงินในบัญชีธนาคารกรุงไทยของตนเองถูกโอนออกจากบัญชีโดยไม่ได้ทำธุรกรรมใด ๆ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 33,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายพบเจอเพจผ่านช่องทาง Facebook ประกาศรับสมัครหานางแบบ/นายแบบเด็กหน้าใหม่ จึงมีความสนใจอยากให้ลูกของตนได้ร่วมกิจกรรมทางเพจนี้ ทางเพจให้ผู้ปกครองทำการสมัครร่วมทำกิจกรรม โดยให้เข้าชมผ่านช่องทาง Youtube กระตุ้นยอดซื้อสินค้า ตามจำนวนที่กำหนด และได้หลอกหลวงค่าคอมมิชชันของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และ คดีที่ 5 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 1,490 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายจองที่พักชื่อว่า Sea Sand Trees จังหวัดชลบุรี ผ่านช่องทาง Facebook ทางเพจที่พักให้ทำการโอนเงินจองห้องพักโดยชำระเต็มราคา จากนั้นทางที่พักแจ้งกลับมาว่าให้โอนเงินค่ามัดจำเพิ่มไปยังอีกบัญชีธนาคาร ทางผู้เสียหายเกิดความสงสัยจึงไม่ได้โอนเงินค่ามัดจำเพิ่มไปและทำการตรวจสอบที่พักพบว่าเพจเป็นเพจปลอม ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดีกว่า 7 ล้านบาท
ดีอี ขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล โดย 5 คดีที่กล่าวมาได้มีทั้งการหลอกลวงให้รัก แล้วโอนเงิน การโทรศัพท์ข่มขู่ให้เกิดความกลัว การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้วหลอกให้ลงแอปติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ รวมทั้งการจองที่พักผ่านเพจปลอม
“ดีอี
ขอเตือนภัยกับทุกท่าน ให้สังเกต และงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า
เพื่อป้องกันการถูกกลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้” วงศ์อะเคื้อ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง