25 ม.ค. 2567 21,857 23

รมว.ดีอี ให้ความมั่นใจปราบอาชญากรรมออนไลน์ หลังปวีณาพาเหยื่อถูกหลอกร่วมลงทุนเทรดหุ้นเข้าพบ สูญเงิน 91 ล้านบาท

รมว.ดีอี ให้ความมั่นใจปราบอาชญากรรมออนไลน์ หลังปวีณาพาเหยื่อถูกหลอกร่วมลงทุนเทรดหุ้นเข้าพบ สูญเงิน 91 ล้านบาท

วันนี้ (25 มกราคม 67 ) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย สุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีดีอี, นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) วัลลภ รุจิรากร เป็นเลขานุการ รมว.ดีอีเอส , พล.ต.ต.มณเทียร พันธ์อิ่ม บช.สอท., พ.ต.อ ไพโรจน์ หมื่นกล้าหาญ รอง ผบก.ตอท. รับเรื่องร้องเรียนจาก ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี โดยมีตัวแทนผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ 12 ราย จากกว่า 70 ราย  มูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท





ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ดีอี ได้เร่งดำเนินกวาดล้างกระบวนการนี้เพราะถือเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เป็นร้ายแรงของชาติ ตามนโยบายรัฐบาลโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ดีอี เร่งปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ พร้อมเน้นย้ำการทำงานใกล้ชิดร่วมกัน โดยได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 เพื่อให้เป็น One Stop Service แก้ปัญหาออนไลน์แก่ประชาชนได้ทันที

“มูลนิธิปวีณา ได้มีข้อเรียกร้องอยากให้กระทรวงได้ดำเนินการ คือการกวาดล้างมิจฉาชีพ ในเรื่องการปราบแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์และภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ และขอให้รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ ได้เตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนให้รับทราบ กระทรวงฯ ได้มอบเอกสารและส่งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปดำเนินการต่ออย่างรัดกุมและอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งทางตำรวจพร้อมทีมงานได้รับเรื่องไปดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด” ประเสริฐ กล่าว



ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นอาชญากรรมออนไลน์ที่ร้ายแรงสร้างความเสียหายทั่วโลก ผู้ตกเป็นเหยื่อสูญเงินจำนวนมหาศาล บางคนต้องกู้เงิน เอาบ้านที่ดินไปจำนอง ขายทรัพย์สินเอาเงินมาลงทุนจนหมดตัว หลังเจอปัญหาหลายคนไม่มีเงินให้ลูกเรียน เครียดหนัก จนเป็นโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ คิดฆ่าตัวตาย  โดยทางมูลนิธิปวีณาได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหายที่ถูกหลอกร่วมลงทุนเทรดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 17 -24 ม.ค. 67 ความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท จำนวนกว่า 70 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีประสบการณ์ในตลาดหุ้นจึงถูกชักชวนทาง เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ไอจี ให้เข้าศึกษาเรื่องการเทรดหุ้น โดยใช้รูปของเหล่า อาจารย์ ที่มีชื่อเสียง ในวงการตลาดหุ้นไทยมาหลอกลวง และแนะนำให้เปิด พอร์ต การลงทุนกับโบกเกอร์ปลอม โดยวิธีการคือ เมื่อเหยื่อติดกับจะโอนเงินไปลงทุนกับพอร์ตที่มิจฉาชีพสร้างขึ้น แรกๆ จะมีเงินผลตอบแทน แต่เมื่อเหยื่อลงทุนในจำนวนที่สูง การเบิกถอนเริ่มมีปัญหาก่อนปิดหนีไปสร้างพอร์ตใหม่เพื่อหลอกเหยื่อรายใหม่ ผู้เสียหายตรวจสอบจนพบว่า เป็นพอร์ตหุ้นที่มิจฉาชีพทำขึ้นมาเพื่อหลอกให้ร่วมลงทุน พร้อมทั้งเสนอนโยบายกวาดล้างกระบวนการอาชญากรรมทางออนไลน์ ดังนี้



(1.) ดำเนินการกวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพ อาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป 

(2.) ขอให้รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ความรู้กับประชาชนถึงพฤติกรรมอาชญากรรมออนไลน์ ให้เข้าถึงประชาชน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์อีกต่อไป

(3.) มอบเอกสาร เหยื่อผู้เสียหายกว่า 70 ราย ให้ท่านรัฐมนตรี ประเสริฐ ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที เกี่ยวข้อง ติดตามคดีและให้ความช่วยเหลือตามที่ผู้เสียหายร้องขอต่อไป

ทั้งนี้ ตัวแทนผู้เสียหาย ยังได้ขอเสนอความช่วยเหลือกับทางกระทรวงดีอี ตำรวจไซเบอร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบเส้นทางการโอนเงินระหว่างประเทศของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาในหลอกลวง รวมทั้งกวดขันการเปิดบัญชีของมิจฉาชีพที่ถูกอายัดแล้ว ไม่ให้เปิดใหม่ได้อีก

2. ขอให้ทุกธนาคาร ส่งเอกสารหลักฐานเส้นทางการเงินให้กับสถานีตำรวจที่รับแจ้งความ เพื่อประกอบสำนวนคดีได้อย่างรวดเร็ว

3. ขอให้กระทรวงดีอีตรวจสอบการซื้อโฆษณาในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับ การชักชวนให้ลงทุน แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่าง ๆ และแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงในสังคม


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเพิ่มเติมความคืบหน้าการบริหารจัดการซิม ในการก่ออาชญากรรม  โดยระงับซิมที่โทรเกิน 100 สายต่อวัน จากการยกเลิกที่ถูกระงับ ที่โทรเกิน 100 สายตั้งแต่วันที่ 20 มกรา 2567 ไปทั้งสิ้น 13,237 เบอร์มายืนยันตัว 1,925 คน คงเหลือเบอร์ที่ยังถูกระงับการใช้อีก 11,312 คน ด้านการยืนยันตัวผู้ถือครองซิมเกิน 100 เบอร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการให้มายืนยันตัวและเตรียมระงับใช้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และในส่วนของผู้ถือซิมระหว่าง 6 - 100 เบอร์ เตรียม ระงับในวันที่ 13 กรกฎาคม ซึ่งขั้นตอนต่อไป คือการบริหารจัดการ SCAM SMS ที่ผูกกับลิงค์ต่อไป





“การทำงานของกระทรวงฯตรงนี้ทำให้เราเห็นภาพการทำงานของทางกระทรวงดีอีว่าไม่ได้ทำงานกระทรวงเดียวแต่เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหลายกระทรวง จึงอยากขอให้กสทช. เอาเงินมาประชาสัมพันธ์ไม่ให้คนตกเป็นเหยื่อ เป็นเรื่องยากที่ตำรวจจะต้องทำงานตรงนี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ท่านรัฐมนตรีส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี ให้มีการปราบปรามอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้มาตรการการทำงานของรัฐบาลก็ทำงานเต็มที่ทั้งนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำยังไงที่จะทำให้การทำงานเป็นรูปแบบผสมผสาน ก็ขอฝากรัฐมนตรีไว้ มั่นใจว่ารัฐมนตรีจะสามารถทำงานบูรณาการร่วมกับกระทรวงทุกกระทรวงได้” ปวีณา กล่าว