25 ม.ค. 2567 415 0

รมว.ดีอี มอบรางวัล Hackulture 2023 Illuminate Thai นำดิจิทัลยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ระดับสากล

รมว.ดีอี มอบรางวัล Hackulture 2023 Illuminate Thai นำดิจิทัลยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ระดับสากล

รมว.ดีอี มอบรางวัล “Hackulture 2023 Illuminate Thai” นำดิจิทัลยกระดับอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยสู่ระดับสากล มุ่งสร้าง Soft Power ของไทย


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานมอบรางวัลกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ “Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” ชิงถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 โดยมีนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม ณ โรงแรม Graph Hotel รัชดาภิเษก กรุงเทพฯ 


ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า มรดกทางวัฒนธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญของชาติไทย กระทรวงดิจิทัลฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรม โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลที่เข้าถึงง่ายและน่าสนใจ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาแฟชั่นไทยให้มีความร่วมสมัยและสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างต้นทุนทางวัฒนธรรม สำหรับนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนการสร้างความสามารถในการแข่งขันในทางเศรษฐกิจดิจิทัล และเศรษฐกิจสร้างสรรค์


“สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นในด้านแฟชั่น ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นของประเทศไทย ทั้งสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง เครื่องประดับ อัญมณี หรือธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับประเทศ ดังนั้น การถ่ายทอดแฟชั่นไทยสู่รูปแบบดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นในมิติด้านเทคโนโลยี หรือมิติด้านสื่อมัลติมีเดีย จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะสามารถสร้าง Soft Power ให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อให้คนไทยมองเห็นถึงคุณค่าและเกิดความหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้าน Digital Content เตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ” ประเสริฐฯ กล่าว


ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช. ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 โดยมีกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab เพื่อดำเนินการจัดทำมาตรการ หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย และ 2) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) การส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อเชิญชวนบุคคลที่มีความสนใจ ร่วมสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content อันจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง Soft Power ของประเทศ 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมไทยสู่คนรุ่นใหม่ โดยได้เปิดโอกาสให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจ สมัครเข้าร่วมการแข่งขัน ผ่านการนำเสนอด้วยการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล 


สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ทีมที่ผ่านเกณฑ์การตัดสินในรอบแรก จำนวน 40 ทีม ได้เข้าร่วมค่ายฝึกอบรม Boot camp เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การสร้างสรรค์ผลงานและการถ่ายทอดเรื่องราว และฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งทั้ง 40 ทีม ได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเสนอผลงาน (Pitching) เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2566 โดยมีเพียง 12 ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบนำเสนอผลงานรอบสุดท้าย (Grand Pitching) โดยแบ่งเป็น 2 สาขา คือ สาขาเทคโนโลยี จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา จำนวน 3 ทีม และประชาชนทั่วไป จำนวน 3 ทีม และสาขาสื่อมัลติมีเดีย จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา จำนวน 3 ทีม และประชาชนทั่วไป จำนวน 3 ทีม โดยมีผลการแข่งขัน ดังนี้


ทีมผู้ชนะการแข่งขันที่ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ทีม Fash.Design 

  • สาขาเทคโนโลยี  :  ประเภทนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา 
  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม 4DEV
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม The Board ThaiGuideGame
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Metampta

ประเภทประชาชนทั่วไป

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Fash.Design
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม Fashion Verse
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม DM-TRU Warrior

สาขาสื่อมัลติมีเดีย : ประเภทนักเรียน/นิสิต/นักศึกษา

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Y2Thai
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม Thai Style 
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Cocoon

ประเภทประชาชนทั่วไป

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม CrowdMart Thailand
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ ทีม FA DPU
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม Moody (มูดี้)