1 ก.พ. 2567 21,886 1

รมว.ดีอี ร่วมเวที รัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ พร้อมรับมือยกระดับต่อต้านมิจฉาชีพออนไลน์

รมว.ดีอี ร่วมเวที รัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ พร้อมรับมือยกระดับต่อต้านมิจฉาชีพออนไลน์

วันนี้ (1 ก.พ.67) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้เเทนประเทศไทย พร้อมด้วยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล (ADGMIN) ครั้งที่ 4  ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “การสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัลที่ครอบคลุมและเชื่อถือได้” (Building an Inclusive and Trusted Digital Ecosystem) โดยมีรัฐมนตรีดิจิทัล จากประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเข้าร่วม


ประเสริฐกล่าวว่า ดีอี ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลง โดยได้หยิบยกนโยบายสำคัญ “The Growth Engine of Thailand” ในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย โดยแบ่งเป็น 3 ด้านของการพัฒนา อันได้แก่

1) การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อการเข้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ยกระดับการให้บริการด้านดิจิทัลของภาครัฐกับประชาชน รวมถึงการโปรโมทการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในภาครัฐที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกว่าระบบที่เป็นอยู่

2) การเพิ่มระดับความปลอดภัยและมั่นคงทางดิจิทัล โดยเร่งสร้างเครื่องมือในการจัดการกับภัยทางไซเบอร์
หรืออาชญกรรมออนไลน์ รวมทั้งการป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้นผ่านการให้ความรู้แก่ประชาชน

3) การสร้างบุคลากรด้านดิจิทัล โดยเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถด้านดิจิทัลให้กับประชาชนผ่านคอนเซป “Digital for All”



นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงความร่วมมือในแนวทางของการควบคุมและจรรยาบรรณของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Governance and Ethics) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ในปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในขณะนี้ โดยนายประเสริฐได้กล่าวเสริมว่า ประเทศไทยได้เห็นถึงความสำคัญและได้มีการจัดทำ Thailand AI Ethics Guideline เพื่อควบคุมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในประเทศไทย


ประเสริฐยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการภัยออนไลน์ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งด้านความมั่นคงระดับประเทศและเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะในการจัดตั้งคณะทำงานอาเซียนด้านการป้องกันปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (The ASEAN Working Group on Anti – Online Scam: WG – AS) ซึ่งเป็นข้อเสนอของประเทศไทย เพื่อร่วมกันยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ของอาเซียน ซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติระดับโลก เพื่อร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และได้กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ AOC 1441 เพื่อปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชน


ประเสริฐ ได้เน้นย้ำว่า “อาเซียนต้องร่วมกันบูรณาการ เพื่อไขปัญหาเรื่องนี้ให้ได้อย่างจริงจังและเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ประชาชนในภูมิภาคอาเซียน”