1 ก.พ. 2567 18,784 1

รองนายกฯ เคาะงบบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ปี 2568 กว่า 8 พันล้านบาท ร่วมกับ สำนักนายก ตั้งเป้าเปลี่ยน 'รัฐอุปสรรค' ให้เป็น 'รัฐสนับสนุน'

รองนายกฯ เคาะงบบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ปี 2568 กว่า 8 พันล้านบาท ร่วมกับ สำนักนายก ตั้งเป้าเปลี่ยน 'รัฐอุปสรรค' ให้เป็น 'รัฐสนับสนุน'

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล โดยมี พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานกรรมการ เพื่อพิจารณาโครงการ กิจกรรม และงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ตามแนวทางการดำเนินงานที่กำหนด ให้ครอบคลุม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้การจัดทำงบประมาณดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ



สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพหลัก ได้นำเสนอโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐยื่นขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งในปีนี้มีหน่วยงานให้ความสนใจยื่นข้อเสนอโครงการมาทั้งสิ้นจำนวน 140 โครงการ จาก 95 หน่วยงาน กรอบงบประมาณรวม 8,369.6589 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้ร่วมกันพิจารณาโครงการที่ตรงตามหลักเกณฑ์ แนวทางของแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลตามห่วงโซ่คุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยผลการประชุมมีโครงการที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้นจำนวน 110 โครงการ จาก 75 หน่วยงาน รวมกรอบงบประมาณ 7,964 ล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมดจะถูกบรรจุลงในแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาจัดสรรงบประมาณในขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้แผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล มีวัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่


1.    เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายรัฐบาลและพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 รวมถึงแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566-2570

2.    เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ในการสร้างระบบนิเวศน์ด้านรัฐบาลดิจิทัลเพื่อก้าวไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลโดยสมบูรณ์

3.    เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลแบบมีทิศทาง โดยมุ่งเน้นเรื่องการลดความซ้ำซ้อน การประหยัดงบประมาณ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม และเกิดบริการดิจิทัลที่ครอบคลุมการดำเนินชีวิตในทุกรูปแบบ

จากการวางแผนงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ประโยชน์ที่คาดหวังว่าจะได้รับ ประกอบด้วย

1.    เกิดการยกระดับการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลภาครัฐเพื่อการบริหารงานที่ยืดหยุ่น คล่องตัว (Digital Government Transformation)

2.    สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ (Digital Common Platform )

3.    มีการบูรณาการข้อมูลภาครัฐและบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ ที่มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกตอบสนองตามความต้องการภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  (End-to-End Digital Services and Government Data Solution)

โดยกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ที่ได้รับประโยชน์จากแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ได้แก่ ประชาชนทั่วไป ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่พร้อมใจตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการที่จะเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานภาครัฐในอดีตที่มีภาพลักษณ์ในลักษณะรัฐอุปสรรคให้เปลี่ยนเป็น รัฐสนับสนุน