3 ก.พ. 2567 463 0

ฟอร์ติเน็ต จับมือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ลงนามความร่วมมือ พัฒนาถ่ายทอดทักษะไซเบอร์ซีเคียวริตี้ รับมือภัยคุกคามในธุรกิจ-อุตสาหกรรม

ฟอร์ติเน็ต จับมือ ม.เทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ลงนามความร่วมมือ พัฒนาถ่ายทอดทักษะไซเบอร์ซีเคียวริตี้ รับมือภัยคุกคามในธุรกิจ-อุตสาหกรรม

ด้วยใบรับรองระดับโลกจากฟอร์ติเน็ต นักศึกษาสามารถให้นำไปใช้สมัครงานได้ทั่วโลก

ฟอร์ติเน็ต ผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลกที่ขับเคลื่อนการผสานรวมของระบบเน็ตเวิร์กกิ้งและซีเคียวริตี้ เดินหน้าจับมือภาคการศึกษา ลงนามความเข้าใจความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (RMUTK) เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตร ถ่ายทอดองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญระดับมืออาชีพด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มีเป้าหมายในการผลิตบุคลากรด้านไซเบอร์ 100 คนต่อปีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม พร้อมเพิ่มโอกาสการทำงานในระดับโลกด้วยใบรับรองจากฟอร์ติเน็ต

ภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต กล่าวว่า การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพนี้ ฟอร์ติเน็ตจะให้การสนับสนุนด้านหลักสูตรแก่มหาวิทยาลัยตั้งแต่ระดับ Awareness ต่อเนื่องไปจนถึงระดับ Expert อีกทั้งยังให้การสนับสนุน Voucher แก่บุคลากรและนักศึกษาเพื่อการสอบใบรับรองของทางฟอร์ติเน็ตในแต่ละระดับ โดยใบรับรองนี้จะเป็นใบรับรองระดับโลกที่สามารถนำไปใช้สมัครงานได้ทั่วโลก

จากผลสำรวจช่องว่างด้านทักษะของฟอร์ติเน็ต ใบรับรองด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ถือเป็นสิ่งที่ผู้ว่าจ้างทั่วโลกต้องการ เพราะนอกเหนือจากประสบการณ์ ผู้ว่าจ้างมองว่าใบรับรอง และการฝึกอบรมเป็นเครื่องยืนยันถึงทักษะของบุคคลนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ โดย 90% ของผู้นำธุรกิจเลือกที่จะจ้างคนที่ได้ใบรับรองที่เน้นเรื่องเทคโนโลยี

“ในฐานะผู้นำด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ฟอร์ติเน็ตตระหนักดีถึงการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรงของภัยคุกคาม ฟอร์ติเน็ต เราจึงมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งในการที่จะทำงานร่วมกับภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อร่วมสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีประสิทธิภาพ” ภัคธภา กล่าว

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของฟอร์ติเน็ตที่จัดทำโดยไอดีซีเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ ในประเทศไทยขยายเพิ่มถึงสองเท่าตัว กว่า 50% ขององค์กรรายงานถึงการโจมตีในปี 2023 ที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่าเมื่อเทียบกับปี 2022


รองศาสตราจารย์ ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า จากปัญหาภัยคุกคามด้านความปลอดภัยบนไซเบอร์ที่เพิ่มสูงมากขึ้น ทำให้ความต้องการบุคลากรมืออาชีพที่มีทักษะ ความเชี่ยวชาญ มีความสามารถดูแล ป้องกัน และรักษาความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ การร่วมมือกับฟอร์ติเน็ตจะช่วยให้มหาวิทยาลัยส่งมอบความรู้และทักษะด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ให้กับคณาจารย์และนักศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยในการเป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำทางเทคโนโลยี แหล่งวิทยาการเฉพาะทางชั้นสูง มุ่งสู่การพัฒนานวัตกรรม”

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และระบบไอโอที คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ และหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะบริหารธุรกิจ

ทางมหาวิทยาลัยมีแผนที่จะเปิดหลักสูตรวิศวกรรมเครือข่ายและปัญญาประดิษฐ์ของสรรพสิ่ง ในสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์เพิ่มเติม โดยหลักสูตรจะเน้นไปที่เครือข่ายคอมพิวเตอร์ การสื่อสารไร้สาย และปัญญาประดิษฐ์ที่มีการสื่อสารเชื่อมโยงกันผ่านเครือข่าย ซึ่งในหลักสูตรจะมีการเรียนการสอนเนื้อหาจากฟอร์ติเน็ต เพื่อให้นักศึกษาได้เข้าทดสอบเพื่อได้ใบรับรองทาง Network Security ของฟอร์ติเน็ตก่อนจบการศึกษา

“ความร่วมมือของฟอร์ติเน็ตและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของความร่วมมือเพื่อช่วยกันพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญพร้อมพื้นฐานด้านการรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ที่แข็งแกร่ง ทั้งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการบุคลากร และเพื่อเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ให้สามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัยจากภัยคุกคามที่จะมีผลต่อทั้งธุรกิจและเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จากหลักสูตรที่ได้มีการเปิดสอนที่เกี่ยวกับไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ทั้งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ และหลักสูตรที่คาดว่าจะเปิดสอน รวมถึงหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น จำนวนบุคลากรทางไซเบอร์ที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการสร้างอยู่ประมาณ 100 คน ต่อปี” รองศาสตราจารย์ ดร.พิชัย กล่าว

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยมีแผนที่จะเปิดศูนย์ฝึกอบรมทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เพื่อให้การอบรมกับบุคลากรของมหาวิทยาลัย นักศึกษา ตลอดจนถึงบุคคลภายนอก เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ Reskill/Upskill อีกด้วย