สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) อัปเดตการดำเนินงานภายในกฎหมาย DPS (Digital Platform Service) ผ่านไปครึ่งปีนับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งไทยและต่างชาติแจ้งการประกอบธุรกิจแล้ว 1,168 แพลตฟอร์ม แพลตฟอร์มสัญชาติไทย รวมถึงกลุ่ม Online Marketplace ครองแชมป์แจ้งมากสุด เผยก้าวต่อไป...กระตุ้นให้แพลตฟอร์มยื่นแจ้งรายงานประจำปีและประกาศ T&C ให้ทัน 29 ก.พ. นี้
พร้อมเพิ่มความเข้มข้นการกำกับดูแล เตรียมออกเครื่องหมายรับแจ้ง DPS ‘ETDA DPS Notified’ สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป เร่งสปีดบริการที่โปร่งใส เป็นธรรม คนไทยมั่นใจและเชื่อได้ว่า แพลตฟอร์มที่มีเครื่องหมายนี้ มีการยืนยันตัวตน มีช่องทางการติดต่อเมื่อพบปัญหาจากการใช้บริการุ และจะได้รับการดูแลเยียวยา ภายใต้มาตราการที่สอดคล้องกับกฎหมาย
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ETDA มีบทบาทสำคัญ คือ การร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญของการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ในอนาคต ETDA ที่วันนี้เราขยับบทบาทสู่การเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล ภายใต้แนวคิดการทำงาน Co-Creation Regulator อย่างเต็มตัว ที่ได้ดำเนินงานภายใต้กฎหมาย 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น กฎหมาย Digital ID และกฎหมาย DPS ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานทั้งในส่วนของการกำกับดูแลควบคู่กับการส่งเสริม เพื่อให้ประเทศเกิดการทำธุรกรรมออนไลน์ได้อย่างมั่นใจผ่านการดำเนินงานในหลายส่วน
โดยหนึ่งงานไฮไลท์ที่เรียกว่าเข้ามาเพิ่มความเข้มข้นของบทบาท Co-Creation Regulator นั่นก็คือ การกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้กฎหมาย DPS ซึ่งถือเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย เพราะแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในประเทศไทยมีจำนวนมากและหลากหลาย การจะทำให้แพลตฟอร์มที่มีอยู่นี้เข้าสู่ระบบ มาแจ้งข้อมูลและดำเนินธุรกิจบริการภายใต้แนวปฏิบัติที่ดีสอดคล้องกับกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่ ETDA และผู้ปฏิบัติงาน ต่างเร่งวางกลยุทธ์การทำงานให้มีความรอบครอบ รัดกุมมากที่สุด ไปพร้อมๆ กับการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็นกลุ่มหลักที่ต้องมีหน้าที่ตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้มาร่วมกำหนดทิศทางการดูแลผู้ใช้บริการ การให้บริการ ที่มีความเหมาะสม ตลอดจนการมีแนวปฏิบัติที่ดี ที่รวมถึงการกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดจากการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เป้าหมายสูงสุดคือ เพื่อให้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีแนวทางที่สามารถกำกับดูแลตนเองในการให้บริการที่ดีได้ในอนาคต (Self-regulate)
ซึ่งตั้งแต่ กฎหมาย DPS หรือชื่อเต็มๆ คือ พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 6 เดือน มีแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแจ้งการประกอบธุรกิจแล้ว 1,168 แพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มที่มาแจ้งมากที่สุด คือ กลุ่มบริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) จำนวน 302 แพลตฟอร์ม รองลงมาคือ บริการสื่อสารออนไลน์ (online communication) จำนวน 199 แพลตฟอร์ม และบริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) จำนวน 78 แพลตฟอร์ม และภาพรวมส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไทยถึง 94.46 % ส่วนแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้ามาแจ้งมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และ จีน ตามลำดับ
จิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวต่อว่า ข้อมูลข้างต้นนับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ ETDA ได้เห็นภาพ DPS Landscape ที่ให้บริการในไทยได้ชัดเจนขึ้น ก้าวต่อไปที่เราต้องไปต่อเพื่อยกระดับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น คือ การเร่งให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าข่ายต้องแจ้งแต่ยังไม่มาแจ้งให้มาดำเนินการแจ้งข้อมูลภายในเวลาที่กำหนด รวมไปถึงการเร่งสร้างความเข้าใจและกระตุ้นเตือนให้แพลตฟอร์มที่มาแจ้งข้อมูลแล้ว ต้องดำเนินการยื่นรายงานประจำปีกับ ETDA เพื่ออัปเดตข้อมูล อาทิ รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในไทย จำนวนและประเภทผู้ใช้บริการ เป็นต้น รวมถึงการแจ้งข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ (Terms & Conditions: T&C) ให้ผู้ใช้บริการทราบ ในกรณีแพลตฟอร์มที่มีลักษณะตาม มาตรา 16 ที่มีให้บริการโดยคิดค่าบริการ หรือ ให้บริการเป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้าหรือบริการ หรือ บริการ Search engine ซึ่งทั้งในส่วนรายงานประจำปีและการแจ้ง Terms & Conditions ข้างต้นแพลตฟอร์มจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 29 ก.พ. 2567 นี้
นอกจากนี้ ETDA ยังเตรียมดำเนินการในการออกเครื่องหมายรับแจ้ง DPS หรือ “ETDA DPS Notified” สำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ที่มีลักษณะตาม ม.8 วรรคหนึ่ง ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด) เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มกลุ่มใหญ่ที่ให้บริการแก่คนไทยทั่วไปและอาจเข้าข่ายแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยงสูง และอาจกระทบต่อผู้ใช้งานในวงกว้างได้
ซึ่งเครื่องหมาย “ETDA DPS Notified” นี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้ผู้ใช้บริการ ทั้งผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม พ่อค้าแม่ค้า ไรเดอร์ ตลอดจนผู้บริโภค สามารถเชื่อมั่นได้ว่า แพลตฟอร์มที่มีเครื่องหมายนี้ เป็นแพลตฟอร์มที่ได้มีการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจ มีการยืนยันตัวตน เมื่อเกิดเหตุหรือปัญหาสามารถติดต่อได้ มีมาตรการในการบรรเทาความเสียหายและการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมาย DPS
“เครื่องหมายรับแจ้ง จะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ แพลตฟอร์มทั่วไป ที่ยื่นแจ้งข้อมูลและผ่านการตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้รับการอนุมัติให้สามารถดาวน์โหลดเครื่องหมาย ETDA DPS Notified เพื่อนำไปแสดงบนแพลตฟอร์มของตนเองได้ ตามวิธีและเงื่อนไขที่ ETDA กำหนด ดังนั้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้รับบริการที่มั่นใจ เชื่อถือได้ ย้ำ! ก่อนใช้บริการให้สังเกตเครื่องหมาย ETDA DPS Notified บนแพลตฟอร์มและอย่าลืมคลิกเข้าไปที่เครื่องหมายดังกล่าว เพื่อตรวจสอบข้อมูล รายละเอียดที่สำคัญๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น ชื่อบริการ ลักษณะบริการ สถานการณ์ให้บริการ และ ช่องทางติดต่อ เป็นต้น”
สำหรับ แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กที่แจ้งข้อมูลแบบย่อ และไม่ได้รับเครื่องหมายดังกล่าว แต่ต้องการแสดงให้ผู้ใช้บริการทราบว่า ตนเป็นแพลตฟอร์มที่มีแนวปฏิบัติการให้บริการสอดคล้องกับกฎหมาย DPS สามารถนำใบรับแจ้งที่ได้จาก ETDA ไปสื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้บริการได้เช่นเดียวกัน
สำหรับประเด็นที่ว่า จากแพลตฟอร์มที่มาแจ้งกว่า 1,000 รายนี้ แพลตฟอร์มไหนบ้างที่เข้าข่ายแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ (ตามมาตรา 18) ที่มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือ รวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือ จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร รวมถึงเป็นแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง และมีผลกระทบในระดับสูง ที่จะต้องมีหน้าที่เพิ่มเติม
นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำร่างประกาศรายชื่อดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของ ETDA ที่ www.etda.or.th