กลุ่มบริษัท บีเจซี บิ๊กซี (บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)) จัดการประชุมนานาชาติ ในหัวข้อ “ธุรกิจ ความหลากหลายทางเพศสภาพ และ วิถีแห่งอนาคต” (Business, Gender Diversity, and the Path Ahead) โดยมีเนื้อหาในการสัมมนาเกี่ยวกับความสำคัญของความเสมอภาค (equity) การผลักดันสังคมให้ไปถึงจุดที่เกิดความเท่าเทียมทางเพศ (gender equality) ผ่านการแบ่งปันข้อมูลและแรงบันดาลใจจากวิทยากรผู้มีประสบการณ์ร่วมเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และแสวงหาวิถีแห่งการสร้างสรรค์กฎหมาย กฎเกณฑ์ และนโยบายด้านความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยตลอดจนในนานาประเทศ โดยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคประชาสังคม ร่วมขับเคลื่อนให้เกิดเป็นแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาล
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี กล่าวว่า “เรื่องความเท่าเทียมทางเพศหรือความเสมอภาคทางเพศ ถือว่าเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจของสังคมในหลายๆ ประเทศทั่วโลก สำหรับสถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในทางบวกมากขึ้นซึ่งเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ มิติ อาทิ แนวคิดการให้เกียรติและเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ โดยในอดีตต้องยอมรับว่าประเทศไทยได้รับอิทธิพลเรื่องค่านิยม “ชายเป็นใหญ่หรือเป็นผู้นำ” ทั้งในเรื่องการดูแลครอบครัวหรือในที่ทำงาน จึงเห็นได้ว่า ตำแหน่งสำคัญในประเทศไทยและในองค์กรส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายโดยมีอัตราส่วนของผู้หญิงน้อยมาก แต่ที่ยากกว่านั้นคือบุคคลข้ามเพศ ที่นอกจากจะไม่ได้รับโอกาสในการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญแล้วยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับว่ามีตัวตนในบางสังคมหรือแม้แต่การแสดงออกตัวตนกับคนในครอบครัวด้วยเพราะอิทธิพลต่อทัศนคติและความคิด”
จึงเป็นที่มาของการจัดงานเสวนา หัวข้อ “ธุรกิจ ความหลากหลายทางเพศสภาพ และวิถีแห่งอนาคต“ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอแนวคิดการยกระดับความสำคัญเรื่องความหลากหลายและการแสดงออกทางเพศในองค์กรของประเทศไทยสู่สากล เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นองค์กรด้านความยั่งยืนระดับโลก โดยได้รับเกียรติจาก
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และร่วมแสดงวิสัยทัศน์ของนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่จะทำให้บุคคลเพศเดียวกัน สามารถหมั้น สมรส มีสิทธิหน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศและเพื่อสังคมที่ดีขึ้น
“กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี มีนโยบายการสร้างความหลากหลายในที่ทำงาน และมุ่งเน้นไปที่การสร้างสวัสดิการที่ดี และพัฒนาบุคลากรตามความเหมาะสมกับบุคคล โดยไม่ยึดเอาเพศหรือองค์ประกอบอื่น นอกเหนือจากความสามารถมามีผลต่อการปฏิบัติ คัดเลือกบุคลากรจากทัศนคติ ความคิด และทักษะ ไม่ได้ยึดติดเกี่ยวกับกรอบเรื่องเพศ และข้อจำกัดทางกายภาพอื่นๆ เพราะความสามารถถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่องค์กรต้องการ ด้วยเหตุผลนี้ส่งผลให้กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ได้รับรางวัล “Top50 Companies in Thailand 2024” หรือ 50 องค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากทำงานด้วยมากที่สุด ประจำปี 2567 ในปีนี้ กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี (BJC Big C) ได้รับการโหวตให้อยู่ในอันดับที่ 12 และได้รับรางวัลดังกล่าว 3 ปีติดต่อกัน โดยมีนโยบายที่มุ่งมั่นส่งเสริมความหลากหลายในแง่ของการดูแล และเปิดกว้างสำหรับพนักงาน ทั้งอาชีพ ตำแหน่งงาน ศาสนา อายุ เพศ ความคิด อาทิ
- ส่งเสริมการลาของสามี (พนักงานชาย) เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด
- นโยบายวันลาเพื่อการเปลี่ยนผ่านเพศสภาวะ
- ลาเพื่อสมรส
(พนักงานทุกเพศ)
- ลาเพื่อดูแลบุตรบุญธรรม
(พนักงานทุกเพศ)
- ลาเพื่อประกอบพิธีฌาปนกิจคู่สมรส
(พนักงานทุกเพศ)
- ลาเพื่อดูแลคู่สมรสกรณีเข้าโรงพยาบาล (พนักงานทุกเพศ)
“จากการสำรวจภายในสุดสัปดาห์นี้เราพบว่า
กลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เรามีพนักงานที่เป็น LGBTQ+ ถึง 40%
ของพนักงาน จากการกรอกแบบสอบถามมา จำนวน 9,852 คน นับว่า บีเจซี บิ๊กซี เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ
ทุกคน และพนักงานกลุ่มดังกล่าวได้รับการยอมรับและสามารถเปิดเผยตัวตนได้ เราให้เกียรติในความแตกต่างเปิดกว้างเรื่องการทำงานให้กับคนทุกกลุ่ม
เราไม่เพียงแต่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของพนักงานในองค์กร แต่เราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนทุกคนให้มองเห็นคุณค่าของความแตกต่างเพื่อร่วมปลูกฝังให้ทุกคนเข้าใจและเห็นความสำคัญของความเท่าเทียม
ความเสมอภาคและสิทธิเสรีภาพในสังคม (ซึ่งรวมถึงความเท่าเทียมทางเพศ) โดยหวังว่าความเหลื่อมล้ำจะค่อยๆ
เลือนหายไป ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี
ในการร่วมสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นในองค์กรและสังคม” อัศวิน กล่าวสรุป