15 ก.พ. 2567 818 0

ARV และ Rovula' ส่ง 'Xplorer' ยานยนต์สำรวจท่อใต้ทะเล เก็บข้อมูลและรายงานผลแม่นยำ พร้อมเดินหน้ารับดีมานด์บลูอีโคโนมีไทย – อาเซียน

ARV และ Rovula' ส่ง 'Xplorer' ยานยนต์สำรวจท่อใต้ทะเล เก็บข้อมูลและรายงานผลแม่นยำ พร้อมเดินหน้ารับดีมานด์บลูอีโคโนมีไทย – อาเซียน

รู้จักกับ “เอ็กซ์พลอเลอร์” ยานยนต์ผสานเทคฯ AI เก็บข้อมูลงานสำรวจและตรวจสอบท่อน้ำมัน – ก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล ระบุตำแหน่งสุดเฉียบเทียบเท่า GPS


บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในหน่วยธุรกิจภายใต้ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ ARV ในกลุ่มปตท.สผ.โชว์เทคโนโลยีสุดล้ำ “เอ็กซ์พลอเรอร์ : Xplorer”  ยานยนต์และระบบ AI ตรวจสอบอุปกรณ์ใต้น้ำแบบอัตโนมัติ รองรับการเติบโตกลุ่มพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเล โดดเด่นด้วยความสามารถในการตรวจสอบท่อใต้ทะเลภายนอกที่ดีกว่ายานยนต์สำรวจใต้ทะเลแบบบังคับระยะไกล แม่นยำในการระบุตำแหน่งที่เทียบเท่ากับ GPS ช่วยอำนวยความสะดวกการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นในงานสำรวจและตรวจสอบท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล เช่น ลักษณะพื้นทะเลเหนือท่อ ระบบป้องกันการกัดกร่อนของท่อ โดยเทคโนโลยี  ปัญญาประดิษฐ์ ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับวิธีการทำงานปกติได้ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ประเภทอื่น เพื่อให้การสำรวจใต้ทะเลเป็นไปอย่างครบวงจรเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทางทะเล หรือ Blue Economy ที่คาดว่าจะมีการเติบโตถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ตลอดจนตลาดการตรวจสอบ ซ่อมแซม ที่คาดว่าจะเติบโตจาก 42.66 พันล้านดอลลาร์ในปี 2565 เป็น 72.46 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2572


ภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดหลายปีที่    ผ่านมา แนวคิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทั้งการใช้ส่งพลังงานปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ การสร้างและวางระบบเคเบิลใต้ทะเลเพื่อใช้ในการสื่อสารหรือแม้กระทั่งสายไฟใต้ทะเลที่ใช้ในการส่งพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ อย่างไรก็ดีถึงแม้จะมีการเติบโตของระบบท่อใต้ทะเลอย่างต่อเนื่อง แต่ในการดำเนินงานต่าง ๆ นั้นก็ยังมีความท้าทาย โดยเฉพาะการนำอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีไปใช้งานในโลกใต้น้ำ ซึ่งต้องอยู่ในสภาวะที่มีแรงดันที่มากกว่าบนบกหลายเท่า จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบอุปกรณ์ที่ใช้ใต้ทะเลลึกที่ต้องมีความแข็งแรงเพียงพอเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายในขณะทำงาน รวมทั้งทลายข้อจำกัดอื่น ๆ เช่น ข้อจำกัดทางกายภาพของน้ำที่ไม่สามารถส่งผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารและการนำทางที่ใช้ได้ดีบนบก เช่น Wifi, 4G/5G, GPS ที่ยังไม่สามารถใช้งานได้ในสภาพแวดล้อมใต้น้ำได้ด้วยเช่นเดียวกัน


“บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด ได้เล็งเห็นถึงการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานใต้ทะเล จึงได้พัฒนา เอ็กซ์พลอเรอร์ (Xplorer)  ยานยนต์สำรวจใต้ทะเลที่ปฏิบัติการด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งออกแบบและพัฒนาด้วยทีมวิศวกรคนไทย เพื่อใช้ในภารกิจตรวจสอบโครงสร้างใต้น้ำหรือสำรวจพื้นผิวใต้ทะเล โดยสามารถตรวจสอบและเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าหุ่นยนต์สำรวจใต้น้ำที่มีอยู่ทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้นด้วยการทำงานแบบอัตโนมัติไร้สาย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเรือสนับสนุนขนาดใหญ่ในการปฏิบัติงาน ทำให้สามารถลดกำลังคนในการทำงานพร้อมทั้งยังสามารถทำให้การดำเนินงานรวดเร็วขึ้น 50% รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความปลอดภัย อีกทั้งยังมีระบบนำทางอัจฉริยะที่จะเก็บข้อมูลและภาพแบบเรียลไทม์เพื่อประเมินสภาพและทำแผนการบำรุงรักษาของอุปกรณ์ได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ”


ด้าน ธษภิชญ ถาวรสุข ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โรวูล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า XPLORER เป็นยานยนต์ตรวจสอบสภาพภายนอกของท่อใต้ทะเล โดยมีสิ่งที่โดดเด่นอย่างมากก็คือเทคโนโลยี AI ในการนำทางที่ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานเมื่อเทียบกับวิธีการปกติสูงสุดถึง 2 เท่า เนื่องจากสามารถลดความต้องการในการใช้เรือสนับสนุนการทำงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าในการเช่าต่อวันที่สูงมากถึงวันละ 1.5 ล้านบาท เป็นเรือขนาดเล็กลงทำให้ค่าเช่าเรือต่อวันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


นอกจากนั้นแล้วยานยนต์เอ็กซ์พลอเรอร์ ยังสามารถทำการสำรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพมีความเร็วในการปฏิบัติงานทำให้ระยะเวลาในการดำเนินงานสั้นลงอีกด้วย ตัวยาน XPLORER มีน้ำหนักในอากาศอยู่ที่ 850 กิโลกรัม และทนความลึกได้ที่ 300 เมตร ขับเคลื่อนโดยใบพัดผลักดันน้ำจำนวน 8 ตัว ซึ่งจะทำให้ยานมีความสามารถเคลื่อนที่ได้ใน 6 องศาอิสระและสามารถหยุดนิ่ง ณ จุดใดจุดหนึ่งได้ มีความสามารถในการวิ่งตามท่อแบบอัตโนมัติโดยใช้คลื่นเสียง (Sonar) กล้อง VDO ในการหาแนวท่อเพื่อให้ระบบประมวลผลสั่งการให้ยานเคลื่อนที่ไปตามแนวที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าช่วงที่ท่อถูกทรายกลบ ระบบจะใช้ตำแหน่งที่ได้มาจากงานวางท่อในการนำทางแทนจนกว่าจะเห็นท่อพ้นขึ้นมาจากทราย และในระหว่างที่ XPLORER กำลังเคลื่อนที่อยู่เหนือท่อตัวยานจะทำการเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นในงานสำรวจและตรวจสอบท่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใต้ทะเล เช่น ลักษณะพื้นทะเลใต้ท่อ (Seabed profile) ความเข้มสนามไฟฟ้า (Electric Field Gradient) พิกัด ฯลฯ โดยหลังจากจบภารกิจ XPLORER จะมีระบบกลับเข้าสถานีชาร์จและส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติเพียงแค่การส่งคำสั่งครั้งเดียว


ทั้งนี้ ที่ผ่านมา XPLORER  ถูกนำมาใช้ในโครงการสำคัญ ๆ  ของ ปตท.สผ. ในอ่าวไทย อีกทั้งยังได้มีการดำเนินงานร่วมกับธุรกิจพันธมิตรในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก อื่นๆ  เช่น การใช้หุ่นยนต์ตรวจสอบโครงสร้างเขื่อน หรือ การจัดทำแผนที่ใต้น้ำ เป็นต้น จึงทำให้นอกจากงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว XPLORER ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นที่มีความต้องการในการสำรวจพื้นผิวหรือโครงสร้างใต้น้ำอีกด้วย


ธษภิชญ กล่าวเพิ่มเติมว่านอกเหนือจากยานยนต์สำรวจใต้ทะเลแบบอัตโนมัติหรือ XPLORER  ปัจจุบัน บริษัท โรวูล่าฯ ยังมีเทคโนโลยีอื่นๆที่ได้มีการพัฒนาร่วมกันพันธมิตรทางธุรกิจอื่นๆ อย่าง  XGATEWAY เรือผิวน้ำไร้คนขับ Nautilus นวัตกรรมหุ่นยนต์ ซ่อมบำรุงท่อใต้ทะเลตัวแรกของโลก และ Xspector ระบบการจัดการข้อมูลการสำรวจ ตรวจสอบบนคลาวด์  และ Aquatic monitoring ระบบตรวจจับและจำแนกสิ่งมีชีวิตทางน้ำที่เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาและดำเนินการภายใต้บริษัท โรวูล่า โดยวางบทบาทสู่ผู้นำและผู้สร้างสตาร์ทอัพที่พัฒนา AI / หุ่นยนต์ แบบครบวงจรสำหรับการตรวจสอบทางทะเลและใต้ทะเลของไทย - เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด รวมถึงขยายฐานไปสู่กลุ่มพลังงานและพลังงานทดแทนผ่านเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจชั้นนำของไทยและในระดับโลกกว่า 5 ราย โดยยังวางเป้าหมายการเติบโตตั้งแต่ปี 2565 ไม่ต่ำกว่าปีละ 90%