20 ก.พ. 2567 316 0

สดช. แถลงผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2 หนุนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สดช. แถลงผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2 หนุนสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สดช. แถลงผลสำเร็จ Digital Cultural Heritage ระยะที่ 2 ย้ำต้องแปลงทุนทางวัฒนธรรมเป็นทุนทางเศรษฐกิจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล


ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงผลสำเร็จโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 เตรียมพร้อมนำ กลไกการแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” ด้วยการ “นำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” โดยมี สุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วม ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ


ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กล่าวว่า การแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ต้องนำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจน ตั้งแต่การเลือกทุนทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์เนื้อหาทางวัฒนธรรม การเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัล การเผยแพร่ การทำการตลาด ตลอดจนแนวทางการคืนประโยชน์ไปยังเจ้าของทุนทางวัฒนธรรม เพื่อเป็นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้าถึง และตระหนักถึงศักยภาพของมรดกทางวัฒนธรรม การสร้างกำลังคนในอุตสาหกรรม Digital Content ที่มีศักยภาพรองรับความต้องการของตลาด มีแหล่งทุนสนับสนุน ส่งเสริมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรม Digital Content เพื่อสร้างสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ ตลอดจนส่งเสริมการตลาดและสื่อสารมรดกทางวัฒนธรรมของไทยในระดับนานาชาติ ในฐานะที่เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ 



“ความต้องการในการนำมรดกทางวัฒนธรรมของไทยมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นที่สนใจของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน แต่เหตุที่มรดกทางวัฒนธรรมยังไม่สามารถสร้างรายได้เชิงประจักษ์ได้นั้น เป็นเพราะ “ทุนทางวัฒนธรรมไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้ ในการสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจ” จึงจำเป็นต้องมี “กลไกการแปลงทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็น Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” ด้วยการ “นำมรดกทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” สำหรับโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลักด้วยกัน ได้แก่ กิจกรรมหลักที่ 1) การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ หรือ Policy Lab เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งจัดประชุมไปทั้งสิ้น 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่การระดมความคิดเห็น เพื่อทำความเข้าใจสภาพปัญหาและกำหนดโจทย์ที่ชัดเจน การกำหนดเป้าหมายและออกแบบนโยบายหรือมาตรการ ตลอดจนการนำเสนอ และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้มาตรการ หรือข้อเสนอแนะดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และกิจกรรมหลักที่ 2) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) ในการสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content ภายใต้หัวข้อ “Hackulture 2023 Illuminate Thai อัปเวลแฟชั่นไทย ด้วยดิจิทัล” ที่มุ่งเน้นในการถ่ายทอดแฟชั่นไทย สู่รูปแบบดิจิทัล ทั้งสาขาเทคโนโลยี และสาขาสื่อมัลติมีเดีย จำนวน 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประเภทประชาชนทั่วไป ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว มีผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันจากทั่วประเทศกว่า 60 ทีม จำนวนรวมทั้งสิ้น 287 คน ซึ่งผู้เข้าร่วมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกจำนวน 40 ทีม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ การสร้างสรรค์ผลงาน การถ่ายทอดเรื่องราว และฝึกปฏิบัติการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content โดยจัดแข่งขันรอบนำเสนอผลงานและรอบสุดท้ายเรียบร้อยแล้ว เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทีมที่คว้ารางวัลสูงสุดจากการแข่งขันครั้งนี้ ได้แก่ ทีม Fash.Design โดยรับถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งส่งผลงานเข้าแข่งขันในสาขาเทคโนโลยี ประเภทประชาชนทั่วไป นำเสนอแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยเหลือผู้ประกอบการชุดไทยท้องถิ่นและชุดไทยดั้งเดิม ที่ขาดทักษะด้านออนไลน์และภาษาต่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยี AI สร้าง Virtual Model และดิสเพลย์ที่สวยงาม แปลได้ 70 ภาษา และเชื่อมต่อ e-commerce กว่า 30 แพลตฟอร์มทั่วโลก เพื่อปลุกพลัง Soft Power แฟชั่นไทย ก้าวไกลสู่ตลาดสากล” ภุชพงค์ฯ กล่าว


ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจาก 2 กิจกรรมหลักตามที่กล่าวมาในข้างต้นแล้ว ภายใต้โครงการฯ ยังได้มีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ในการส่งเสริมการนำเข้าข้อมูลวัฒนธรรมไทยสู่ระบบดิจิทัล ได้แก่ ระบบสารสนเทศด้านวัฒนธรรมและแผนที่วัฒนธรรม (Cultural Map Thailand) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ Platform คลังข้อมูล “วัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ” (นวนุรักษ์) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) อีกด้วย และหวังว่าการดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ในระยะที่ 2 นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อน Soft Power ของไทย และจุดประกายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างสรรค์และผลักดันอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรมต่อไปในอนาคตอีกทั้งในงานแถลงข่าวดังกล่าว ยังมีกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “การพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content ในมุมมองด้านวัฒนธรรม เพื่อสร้าง Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ” โดยตัวแทนจากภาครัฐ อาทิ  สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในมุมมองการใช้ Soft Power เพื่อต่อยอดสร้างผลประโยชน์เชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น จุดแข็งและจุดอ่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม Digital Content เพื่อส่งเสริม Soft Power รวมไปถึงตัวแทนจากภาคเอกชนกับการใช้ Soft Power ในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดของโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) ระยะที่ 2 ได้ที่ www.hackulture.com