วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 12 - 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 1,291,171 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพโทรศัพท์หาผู้เสียหาย อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการคลังมหาวิทยาลัยมหิดล แจ้งว่า มีเงินในระบบบัญชีได้ถูกเบิกออกไปใช้ ให้ผู้เสียหายตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชัน โดยส่งลิงก์มาให้ ภายหลังจากที่ผู้เสียหายทำการดาวน์โหลดทำตามขั้นตอนจนเสร็จ ปรากฏว่า เงินที่อยู่ในบัญชีของตนได้ถูกโอนออกไป จึงทราบว่าตนถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 2,071,329.47 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายเคยถูกหลอกลวงให้ลงทุนและได้มีการแจ้งความก่อนหน้านี้ไว้ที่ สภ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ภายหลังเล่น Facebook พบเจอเพจที่อ้างว่าเป็นหน่วยงานชื่อ IT Cyber Service 9 ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากคดีฉ้อโกงออนไลน์เพื่อรับทรัพย์สินคืน ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นเพจจริงของทางตำรวจ ได้มีการพูดคุยผ่านข้อความ และโอนเงินไปให้ โดยทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นค่าภาษี และค่าดำเนินการอื่น ๆ ภายหลังผู้เสียหายโอนเงินไป ก็ไม่สามารถติดต่อกับเพจดังกล่าวได้อีก จึงทราบว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 หลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน มูลค่าความเสียหาย 1,080,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพโทรศัพท์หาผู้เสียหาย อ้างเป็นเพื่อนของผู้เสียหาย ชื่อว่าชื่อ ปู และได้แจ้งว่า ตนเองทำโทรศัพท์สูญหายจึงมีการเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่ จากนั้นได้ทำการขอยืมเงินผู้เสียหาย ภายหลังจากได้โอนเงินไปให้ก็ไม่สามารถติดต่อเบอร์ดังกล่าวได้อีก จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,926,754.54 บาท ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพชักชวนทำงานหารายได้พิเศษระบบสินค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง Line โดยผู้เสียหายต้องทำการซื้อแพ็กเกจเพื่อค้ำประกันการทำงาน และค่าดำเนินการอื่น ๆ ก่อน ในแอปพลิเคชัน ALLEGRO โดยจะได้รับค่าตอบแทนเปอร์เซ็นต์จากจำนวนเงินที่โอนไป ภายหลังจากโอนเงินไปแล้ว ไม่สามารถติดต่อกับมิจฉาชีพได้อีก จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 2,200,600 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพโทรศัพท์หาผู้เสียหาย อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองอุดรธานี แจ้งผู้เสียหายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีการฟอกเงิน เพื่อการแสดงความบริสุทธิ์ใจให้โอนเงินเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หากดำเนินการตรวจสอบเรียบร้อยแล้วจะโอนกลับคืนผู้เสียหายหลงเชื่อและได้โอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี 8,569,855 บาท
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความเป็นกังวล และขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล
“ดีอี ขอเตือนภัยให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาในหลากหลายรูปแบบ ให้สังเกต และงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันการถูกกลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้ รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย” วงศ์อะเคื้อ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน AOC 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง