27 ก.พ. 2567 467 2

มิจฯ ออนไลน์ ใช้มุกเก่า ลวงเงินเหยื่อ AOC 1441 เผย 5 เคส รายสัปดาห์ รับแจ้งเหตุผู้เสียหายสูญเงินรวมร่วม 25 ลบ.

มิจฯ ออนไลน์ ใช้มุกเก่า ลวงเงินเหยื่อ AOC 1441 เผย 5 เคส รายสัปดาห์ รับแจ้งเหตุผู้เสียหายสูญเงินรวมร่วม 25 ลบ.

วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 19 - 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ มูลค่าความเสียหาย 2,230,966.69 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพโทรศัพท์หาผู้เสียหาย แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แจ้งผู้เสียหายว่า มีเอกสารสำคัญตกค้างให้มาดำเนินการที่มหาวิทยาลัย หากไม่สะดวก ให้ยืนยันข้อมูลรายการผ่านแอปพลิเคชันที่ส่งลิงก์มาให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงคลิกลิงก์ดังกล่าว ภายหลังได้ตรวจสอบเงินในบัญชีธนาคารของตนเองพบว่า เงินที่อยู่ในบัญชีของตนได้ถูกโอนออกไป ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 13,500,043.44 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักมิจฉาชีพผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ได้พูดคุยชักชวนหารายได้พิเศษทำกิจกรรม ตามที่กำหนด และจะได้รับเงินปันผลจากเงินที่ลงทุนในแต่ละครั้ง ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงร่วมลงทุนไป ระยะแรกได้ผลตอบแทนดีจึงเพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น ระยะหลังไม่สามารถถอนเงินอออกมาใช้ได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

คดีที่ 3 หลอกลวงให้กู้เงินอันมีลักษณะฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ มูลค่าความเสียหาย 1,500,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายพบโฆษณากู้เงินออนไลน์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก จึงได้กดลิงก์เพื่อติดต่อขอกู้เงิน มิจฉาชีพให้ผู้เสียหายกรอกรายละเอียดสำคัญการกู้เงิน และแจ้งว่าได้ทำรายการผิด ต้องโอนเงินเพื่อดำเนินการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินไปให้ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถกู้เงินได้ จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

คดีที่ 4 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 3,653,172.75 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักกับมิจฉาชีพผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก สนใจทำงานหารายได้เสริมจึงติดต่อพูดคุยกันมิจฉาชีพแจ้งว่า เป็นลักษณะการทำงานแพ็กสินค้า รีวิวสินค้า กดไลก์และกดแชร์ โดยจะได้กำไรจากเงินลงทุนสินค้า ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินลงทุนไป ระยะแรกได้ผลตอบแทนดีจึงเพิ่มเงินลงทุนมากขึ้น ระยะหลังไม่สามารถถอนเงินอออกมาใช้ได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกลวง

และ คดีที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 3,595,070.58 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพโทรศัพท์หาผู้เสียหาย แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย แจ้งผู้เสียหายว่า มีคนพยายามจะถอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย ให้ผู้เสียหายติดต่อแจ้งความ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต่อมามิจฉาชีพอีกคนอ้างว่าเป็นร้อยเวร สภ.นครราชสีมา แจ้งผู้เสียหายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน เพื่อการแสดงความบริสุทธิ์ใจให้โอนเงินในบัญชีทั้งหมด ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินและจะคืนให้ภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อ และได้โอนเงินไป หลังจากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอกลวง         

รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี 24,479,253 บาท

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความเป็นกังวล และขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล

ดีอี ขอเตือนภัยให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาในหลากหลายรูปแบบ ให้สังเกต และงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันการถูกกลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้ รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย” วงศ์อะเคื้อ กล่าว

ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 หรือหากประชาชนมีข้อสงสัยโดนหลอกออนไลน์สามารถโทรปรึกษา สายด่วน AOC 1441 และ GCC 1111 โทรฟรีตลอด 24 ชม.