6 มี.ค. 2567 298 0

DGA จับมือ สปสช. ลุย 'โครงการวิเคราะห์และพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูลและข้อมูลเปิดภาครัฐ' นำข้อมูลให้หน่วยงานรัฐ และ ปชช. ใช้ประโยชน์

DGA จับมือ สปสช. ลุย 'โครงการวิเคราะห์และพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูลและข้อมูลเปิดภาครัฐ' นำข้อมูลให้หน่วยงานรัฐ และ ปชช. ใช้ประโยชน์

DGA จับมือ สปสช. ลุย ‘โครงการวิเคราะห์และพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูลและข้อมูลเปิดภาครัฐ’ นำข้อมูลจากระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพเปิดให้หน่วยงานรัฐและ ปชช. ใช้ประโยชน์ต่อยอดในมิติเศรษฐกิจและสังคมผ่านเว็บไซต์ data.go.th ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว

สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation and Governance Institute : DIGI) ภายใต้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA โดย ไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการวิเคราะห์และพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูล และข้อมูลเปิดภาครัฐ (Data Governance and Open Data) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ พร้อมด้วย ณัฐวัชร์ วรนพกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และ ประเทือง เผ่าดิษฐ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมเป็นพยาน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2567 ณ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)


ไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า ผลสำเร็จของความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในครั้งนี้ นับเป็นการร่วมสร้างฐานข้อมูลเปิดด้านสาธารณสุขที่สำคัญโดยการนำระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพด้านการบริการสาธารณสุขของ สปสช. มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งในด้านการวิเคราะห์และพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพของประเทศด้วยความมั่นใจ รวมถึงเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ data.go.th ได้ทุกที่ ทุกเวลา

ด้าน นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สปสช. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีภารกิจที่สำคัญ คือการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยทุกคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมประชากร 48 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นในทุกด้าน ทั้งการรักษาพยาบาล การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ดังนั้นข้อมูลในระบบของ สปสช. จึงเป็นชุดข้อมูลสาธารณสุขระดับประเทศในการเชื่อมโยงนำสู่การจัดทำรวมถึงการตัดสินใจเชิงนโยบายและพัฒนานโยบายสุขภาพของประเทศด้วยความมั่นใจ และปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมาตรฐานการดำเนินงานตามกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐได้

การร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สปสช. มีความยินดี เพราะเป็นการขับเคลื่อนข้อมูลในระบบของ สปสช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแต่องค์กร หน่วยงานเท่านั้น แต่ยังเปิดให้ประชาชนเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด