โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ปี 2567 สะท้อนการขับเคลื่อนนโยบายและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ครอบคลุมทั้ง 8 มิติ
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลตัวชี้วัด โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 70 คน ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการศึกษา Thailand Digital Outlook เริ่มดำเนินโครงการ ในปี พ.ศ. 2562 โดยใช้แนวทางในการจัดเก็บตัวชี้วัด Measuring the Digital Transformation ของกรอบ OECD (The Organisation for Economic Cooperation and Development) โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยขยายพื้นที่การสำรวจให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเพิ่มขอบเขตตัวชี้วัดของ OECD ตัวชี้วัดสากลอื่น ๆ รวมทั้งตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เพื่อนำผลการประเมินมาใช้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการดำเนินโครงการ Thailand Digital Outlook ในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการศึกษาแนวทางการประเมินผลนโยบายการพัฒนาด้านดิจิทัลผ่านตัวชี้วัด จำนวน 94 ตัวชี้วัด โดยการสำรวจข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน และหน่วยงานบริการปฐมภูมิ ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลทุติยภูมิจำนวน 35 หน่วยงาน ซึ่งผลจากการสำรวจในปี 2566 พบว่า ในการด้านเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของครัวเรือนไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 89.50 % เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าประมาณ 2% และมีสัดส่วนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศ สูงถึง 87.60 % ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเช่นกัน โดยผลการสำรวจในปีที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ผลการศึกษาผ่านเว็บไซต์ Thailand Digital Outlook เรียบร้อยแล้ว
“ทั้งนี้ สดช. ได้ดำเนินโครงการ Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ. 2567 ในปีนี้เป็นปีที่ 6 โดยมุ่งหวังให้การประเมินผลนโยบายการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทยมีความต่อเนื่องของข้อมูลตัวเลข ข้อมูลเชิงสถิติและตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจดิจิทัล ที่สามารถนำมาใช้ในการประเมินผลด้านนโยบายทางดิจิทัล เพื่อสะท้อนการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายและพัฒนาเศรษฐกิจและดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ทั้ง 8 มิติ ประกอบด้วย 1) การเข้าถึง 2) การใช้งาน 3) นวัตกรรม 4) อาชีพ 5) สังคม 6) ความน่าเชื่อถือ 7) การเปิดเสรีของตลาด และ 8) การเติบโตและสภาพความเป็นอยู่ รวมทั้งศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลดัชนีตัวชี้วัด เพื่อบูรณาการกับข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลที่สำคัญต่อการจัดทำข้อมูลตัวชี้วัดด้านดิจิทัลของประเทศไทยต่อไปในอนาคต ในส่วนการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ เป็นการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลตัวชี้วัด โครงการ Thailand Digital Outlook ประจำปี พ.ศ. 2567 รวมถึงให้ข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) แบบสอบถามที่จะใช้ในการสำรวจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความครอบคลุมและเหมาะสม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดเก็บตัวชี้วัดต่อไป” ภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม