11 มี.ค. 2567 17,829 7

รมว.ดีอี 'ประเสริฐ' ตอบกระทู้ วุฒิสมาชิกสภาฯ พร้อมร่วมมือทั้งในและนอกประเทศ เร่งป้องกันและปราบปรามแก๊ง Call Center

รมว.ดีอี 'ประเสริฐ' ตอบกระทู้ วุฒิสมาชิกสภาฯ พร้อมร่วมมือทั้งในและนอกประเทศ เร่งป้องกันและปราบปรามแก๊ง Call Center

การประชุมรัฐสภาวันนี้ (10 มี.ค. 67) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า จากกรณีที่พลตรี โอสถ ภาวิไล สมาชิกวุฒิสภา ได้ตั้งกระทู้ถามในสภาถึงเรื่องการป้องกันและปราบปรามแก๊ง Call Center ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นจำนวนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และมูลค่าความเสียหายกรณีแก๊ง Call Center นั้น

การประชุมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ตระหนักถึงปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงประชาชน โดยกลุ่มมิจฉาชีพ ได้มีการสร้างเรื่องหลอกลวงหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย (TBA) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน กลต.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการร่วมกันร่างและออกกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหานี้ คือ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกง และหลอกลวงออนไลน์ ซึ่งจะมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้  สำหรับผู้เปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก นำไปใช้ในการกระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเป็นธุระจัดหา โฆษณาให้มีการซื้อขายบัญชีเงินฝาก ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งยังมีโทษสำหรับผู้ที่เป็นธุระจัดหาเพื่อให้มีการซื้อ หรือขายหมายเลขโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ (Anti-Online-Scam Operation Center : AOC) โทร 1441 เป็น One Stop Service ในการปราบปรามเชิงรุกและรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  โดยศูนย์จะดำเนินงานในลักษณะ Task Force Command Center เพื่อปราบปรามเชิงรุกและรับมือกับปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ การหลอกลวงทางการเงินที่ทำให้ประชาชนเกิดความเสียหาย เป็นจำนวนมาก และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีช่องทางการให้ประชาชนสามารถ รับคำปรึกษาปัญหาทางคดีได้ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชน ได้ทราบถึงวิธีการหลอกลวงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในช่องทางเว็บไซต์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ช่องทางของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดียที่ อาทิ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ติ๊กต็อก ทวิตเตอร์ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีภูมิคุ้มกันถึงภัยต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

ประเสริฐ กล่าวต่อว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการไปรษณีย์ และโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในการปราบปรามแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์  ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะทำงานนี้ มีปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน ล่าสุดได้มีการหารือการแก้ไขปัญหาในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 4 (The 4th ASEAN Digital Ministers’ Meeting: The 4th ADGMIN) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และจะมีการหารือกันอีกครั้ง ระหว่างเดือนมีนาคม ร่วมกับคณะทำงานฝ่ายกัมพูชา ในการประชุมผู้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัลและผู้นำสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นการสานต่อความร่วมมือด้านดิจิทัลในมิติต่างๆ โดยเฉพาะการจัดการภัยออนไลน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก๊ง Call Center และ Hybrid Scam ซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติระดับโลก และประเทศไทยมีบทบาทสำคัญ ในการยกระดับความร่วมมือและการดำเนินงานของอาเซียนในการจัดการและรับมือกับปัญหา การหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์