วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า จากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ระหว่าง วันที่ 4 - 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ มูลค่าความเสียหาย 19,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้ซื้อตั๋วคอนเสิร์ตผ่านช่องทาง X ผู้ชายใช้ชื่อ Wissyoumybaby โดยโอนค่าตั๋วชำระเงินเต็มจำนวน เมื่อถึงวันนัดรับตั๋วทราบว่ารหัสหมายเลขตั๋วที่ให้มานั้นเป็นของปลอม ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 3,990,363 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุนหารายได้พิเศษ โดยการสั่งซื้อสินค้าเครื่องประดับผ่านแอปพลิเคชัน salesp.softonic-th.com เมื่อสั่งซื้อสินค้าจะได้รับคูปองส่วนลดและเงินต้นคืน ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้โอนเงินไปตามคำแนะนำของมิจฉาชีพ ในระยะแรกผู้เสียหายได้รับเงินต้นคืนจริง ต่อมาระยะหลังต้องโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่ได้รับเงินต้นคืนผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 10,587,673.30 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้พูดคุยกับมิจฉาชีพผ่านแอปพลิเคชัน Tik Tok และได้ขอเพิ่มเพื่อน ผ่านแอปพลิเคชัน Facebook โดยใช้ชื่อว่า “Wanich Sriutarawong” และอีกคนใช้ชื่อว่า“Sunisa jirathikul” ได้พูดคุยจนสนิทใจและขอเพิ่มเพื่อนผ่านแอปพลิเคชัน Line ต่อมาภายหลังได้มีการส่งลิงก์ http://bitsten.dtdp.live เพื่อชักชวนให้เข้าร่วมลงทุนแลกเปลี่ยนเงินตรา (สกุลเงิน) มีลักษณะเป็นการเทรด Forex มีการซื้อหรือขายเงินตรา เพื่อเก็งกำไร ต่อจากนั้นกดซื้อขายในสกุลเงินที่สนใจจากคำแนะนำและชักชวนของ “Sunisa” ผู้เสียหายจึงหลงเชื่อและได้โอนเงินไป ภายหลังผู้เสียหายเชื่อว่าตนเอง ถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 15,061,184 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรศัพท์ติดต่อเข้ามาหาผู้เสียหาย แจ้งว่าเงินในบัญชีของผู้เสียหายได้มาโดยผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยให้ผู้เสียหายตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากลิงก์ที่ส่งมาให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงคลิกลิงก์และกรอกยืนยันข้อมูลดังกล่าวไป ต่อมาผู้เสียหายเช็คยอดเงินในบัญชีของตนพบว่า ได้ถูกโอนออกไปจากบัญชี จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และ คดีที่ 5 ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน มูลค่าความเสียหาย 23,770,442.70 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย โทรศัพท์ติดต่อเข้ามาหาผู้เสียหาย แจ้งว่า มีคนนำบัตรเครดิตของผู้เสียหายไปรูดซื้อสินค้าที่ห้างเซ็นทรัล สาขาสุราษฎร์ธานี ผู้เสียหาย ต้องไปเอาใบแจ้งความที่ สภ.สุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเรื่องไปยังธนาคารกรุงไทยสำนักงานใหญ่ มิจฉาชีพติดต่อ สภ.สุราษฎร์ธานี ให้กับผู้เสียหายโดยการพูดคุยผ่านทาง Line Video Call และแจ้งกับผู้เสียหายว่า เป็นผู้ต้องสงสัยคดีการฟอกเงิน หากเป็นผู้บริสุทธิ์ให้โอนเงินเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางการเงินและข่มขู่กับผู้เสียหายว่าห้ามบอกใคร มิฉะนั้น จะเกิดความไม่ปลอดภัย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปให้ตรวจสอบ ภายหลังผู้เสียหาย เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี 53,428,663 บาท
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความเป็นกังวล และขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล
“ดีอี ขอเตือนภัยให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาในหลากหลายรูปแบบให้สังเกต และงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันการถูกกลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้ รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย” นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี AOC 1441 หรือหากประชาชนมีข้อสงสัยโดนหลอกออนไลน์สามารถโทรปรึกษา สายด่วน AOC 1441 และ GCC 1111 โทรฟรีตลอด 24 ชม.