สดช. จัดอบรมเสริมทักษะ พัฒนาและขยายผลเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล อัปเลเวล 'สถิติจังหวัด' เป็น 'สถิติและดิจิทัลจังหวัด' ขานรับนโยบาย The Growth Engine of Thailand ของ รมว.ดีอี
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการอบรมชี้แจงโครงการการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยมี พินิจ กัลยาณมณีกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตลอดจนผู้บริหารและบุคลากรของสำนักงานสถิติจังหวัด จำนวน 320 คน เข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุมสถิติ 401 ชั้น 4 สำนักงานสถิติแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในปีนี้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้ร่วมมือกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในการพัฒนา อาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ให้ขยายครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนบทบาทจาก “สถิติจังหวัด” เป็น “สถิติและดิจิทัลจังหวัด” สอดรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เกี่ยวกับนโยบาย “The Growth Engine of Thailand” ประกอบด้วย 3 เครื่องยนต์สำคัญ ได้แก่ 1.การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) 2.การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) และ 3.การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ด้านดิจิทัลของประเทศ (Human Capital) โดยมุ่งหวังให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในระดับพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการฯ มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยในวันนี้เป็นการอบรมที่มีวัตถุประสงค์ของเป้าหมายการเรียนรู้ ได้แก่ การสร้างความรู้ความเข้าใจและเพิ่มทักษะในด้านต่าง ๆ อาทิ
E-commerce E-Agriculture MOOC Coding และ Digital Literacy รวมถึงวิธีการเข้าถึงเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของ อสด. บทบาทของ อสด. ที่จะช่วยเป็นกลไกเสริมการทำงานของภาครัฐให้สามารถสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนแนวทางการขยายผลไปสู่ประชาชนในพื้นที่
“โครงการการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครดิจิทัล ได้จัดทำกรอบสมรรถนะที่เหมาะสม เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรการพัฒนา อสด. ประกอบด้วย สมรรถนะพื้นฐาน อาทิ ภารกิจและโครงการสำคัญของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) บทบาทหน้าที่ของ อสด. ในการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ รวมถึงช่องทางในการประสานงานและสืบค้นข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และสมรรถนะด้านดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ การรู้เท่าทันดิจิทัล การใช้ดิจิทัลในการแก้ไขปัญหาและสร้างโอกาส รวมถึงการปรับใช้ดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้สร้าง “แกนนำ อสด.” ในทุกอำเภอทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อเป็นแกนนำหรือผู้ประสานงานในระดับอำเภอ เปรียบเสมือนโซ่ข้อกลางในการขับเคลื่อนภารกิจ โดยเป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสถิติจังหวัด เป็นแกนหลัก ร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ ซึ่งได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “อาสาสมัครดิจิทัล” เพื่อสนับสนุนการทำงานในการช่วยเหลือให้คำแนะนำกับประชาชน และเป็นช่องทางการถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เช่น ภารกิจสำคัญของกระทรวงดีอีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน องค์ความรู้ด้านดิจิทัล หลักสูตรการเรียนออนไลน์ที่น่าสนใจให้สามารถเลือกเรียนด้วยตนเอง และให้บริการออนไลน์ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง
ดีอี รวมทั้งการตรวจสอบข่าวปลอมผ่านแอปพลิเคชันได้โดยตรง โดยปัจจุบันมีการขยายผลในการสร้าง อสด. ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 11,944 คน เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการส่งเสริมและต่อยอดการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตให้มีความหลากหลาย ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร เป็นต้น ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีความรู้เท่าทันดิจิทัลอีกด้วย” ภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม