19 มี.ค. 2567 214 0

Power Bank ของคุณนำขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่?

Power Bank ของคุณนำขึ้นเครื่องบินได้หรือไม่?

กลายเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เมื่อมีเหตุการณ์ Power Bank ระเบิดบนสายการบินแอร์เอเชีย ขณะบินจากดอนเมืองไปนครศรีธรรมราช โดยมีรายงานว่าผู้โดยสารได้เก็บอุปกรณ์ตรงบริเวณที่วางสัมภาระด้านหน้า แล้วจู่ๆ ก็เกิดลุกไหม้ ซึ่งลูกเรือก็ได้ช่วยกันดับไฟจนเหตุการณ์สงบลง และจากข่าวดังกล่าวก็ได้ทำให้ผู้คนเฝ้าระวังการใช้ Power Bank กันมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้กับตนเอง

ข้อจำกัดการพกพา Power Bank ขึ้นเครื่องบิน

Power Bank เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้ผู้ใช้งานสามารถพกพานำไปได้ทุกที่ แต่ทั้งนี้ในกรณีการพกขึ้นเครื่องบิน มันก็ได้มีกฎข้อจำกัดเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์ดังกล่าวขึ้นเครื่องเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่บางคนอาจจะยังไม่ทราบ ว่ามีเรื่องราวแบบนี้ด้วย โดยเรามาดูกันดีกว่าว่าข้อปฏิบัติของ Power Bank มีอะไรบ้าง

Power Bank ที่มีขนาดความจุน้อยกว่า 20,000 mAh หรือน้อยกว่า 100 Wh สามารถพกขึ้นเครื่องได้ตามปกติ

ขณะที่ Power Bank ความจุระหว่าง  20,000 - 32,000 mAh หรือระหว่าง 100-160 Wh จะพกขึ้นมาได้เพียงแค่ 2 ก้อนเท่านั้น

Power Bank ที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ อาทิ ไม่มีการระบุขนาดความจุ สติ๊กเกอร์หรือฉลากที่ระบุเกิดหลุดหายหรือเลือนรางเกินกว่าจะตรวจสอบได้ จะถูกกันไม่ให้นำขึ้นเครื่องทุกกรณี

Power Bank ที่มีความจุไฟฟ้าปริมาณมากกว่า 32,000 mAh หรือมากกว่า 160 Wh จะไม่สามารถนำขึ้นเครื่องบินได้

นอกจากนี้แล้ว Power Bank ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บใส่กระเป๋าแล้วโหลดไว้ใต้ท้องเครื่อง เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุจนสัมภาระด้านใต้ติดไฟ จะยากต่อการตรวจสอบและเข้าระงับเหตุ

ซึ่งถ้าหากผ่านการตรวจแล้ว ก็ควรที่จะนำ Power Bank ใส่กระเป๋าสัมภาระพกติดตัวให้เรียบร้อย เพื่อให้ง่ายต่อการหยิบจับ หรือรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที

วิธีการหลีกเลี่ยงโอกาส Power Bank ระเบิด

ซึ่งเหตุการณ์ Power Bank หรือร้อนจนไหม้ควันขึ้นนั้น ถือเป็นปัญหาที่ผู้ใช้ทุกคนต้องระวัง โดยบางครั้งมันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะสินค้าปลอมที่ไม่ได้คุณภาพเสมอไป แต่อาจมีปัจจัยอื่นที่กระตุ้นให้อุปกรณ์ที่ต่อให้เป็นของจากแบรนด์ดังก็ยังพังได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 สาเหตุหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

การดูแลรักษาที่ไม่ดีพอ

1.ทำให้แบตเตอรี่มีอุณหภูมิสูงมากเกินไป

เรื่องของอุณหภูมิถือเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ Power Bank เกิดการเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว โดยความร้อนจะเข้าไปทำให้วัสดุและแผงวงจรภายในเสียหาย ทำให้แบตบวมซึ่งอาจระเบิดได้

โดยผู้ใช้ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ Power Bank ร้อนกว่าปกติทั้งการวางอุปกรณ์ตากแดด การชาร์จติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการชาร์จขณะเล่นมือถือ เป็นต้น

2.หลีกเลี่ยงความชื้น

นอกจากความร้อนแล้วความชื้นเองก็เป็นศัตรูตัวสำคัญของแบตเตอรี่ ที่จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับวงจรและวัสดุภายใน Power Bank ให้เกิดการเสื่อมสภาพได้เหมือนกัน

3.อย่าปล่อยให้แบตเตอรี่ภายในหมด

เป็นเรื่องปกติของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแบตเตอรี่ ซึ่งหากไม่ได้ใช้งานนานมันก็จะเสื่อมสภาพเองได้ เนื่องจากพลังงานภายในค่อย ๆ หมดไปเองจนไม่เหลือ โดยหากไม่ได้ใช้งานบ่อยก็ควรนำมาชาร์จพลังงานไว้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง

ขณะเดียวกันในกรณีที่ใช้งานเป็นปกติ ก็ไม่ควรใช้ Power Bank จนพลังงานหมดจึงค่อยชาร์จใหม่ เพราะจะทำให้ตัวแบตเสื่อมสภาพได้เช่นกัน ดังนั้นผู้ใช้จึงจำเป็นต้องหมั่นตรวจสอบพลังงานที่เหลืออยู่ใน Power Bank บ่อย ๆ เพื่อป้องกันไฟในแบตเตอรี่หมด

4.อย่าทำ Power Bank กระแทกบ่อย

การทำ Power Bank หล่นพื้นหรือนำไปกระแทกกับของแข็งอะไรก็ตาม วัสดุภายในอาจเกิดความเสียหายจนทำให้ระบบการจัดการไฟฟ้าทำงานไม่ปกติ ซึ่งอาจถึงขึ้นทำให้แบตบวมได้

Power Bank ที่ไม่ได้มาตรฐาน

สินค้าที่มีราคาถูกผิดปกติ ไม่มีแบรนด์หรือแหล่งที่มาที่ไปที่แน่นอน ไม่มีฉลากยืนยันมาตรฐานการผลิต ถือเป็นสินค้ากลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรซื้อมาใช้งานเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากตัว Power Bank แล้ว หัวชาร์จเองก็ต้องมีคุณภาพ เพราะหัวชาร์จไม่ดีก็จะทำให้ Power Bank ใช้ไฟฟ้าเกินหรือลัดวงจรจนอุปกรณ์เสียหายได้

โดยใครที่กำลังมีแผนที่จะโดยสารด้วยเครื่องบิน ก็อย่าลืมตรวจสอบ Power Bank ของตนเองก่อนว่ามีสภาพดีพร้อมหรือไม่ รวมถึงมีคุณสมบัติผ่านกฎการนำขึ้นเครื่องด้วยรึเปล่า จะได้ไม่ต้องมามีปัญหาตามมาภายหลังได้นั่นเอง ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ เหล่านี้จาก https://powerbank-perfect.com/