วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอี) กล่าวว่า ระหว่าง วันที่ 11 - 15 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา Thai Police Online รับแจ้งคดีออนไลน์ทั้งหมด 4,565 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 568,744,075 บาท และจากการรายงานของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือ ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงผ่านเครือข่ายออนไลน์ในหลายรูปแบบจำนวน 5 คดี ประกอบด้วย
คดีที่ 1 หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ
มูลค่าความเสียหาย 14,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายซื้อสินค้ารถจักรยานยนต์
ผ่านช่องทาง Facebook และได้โอนเงินดังกล่าวไป หลังจากนั้นผู้เสียหายไม่สามารถติดต่อร้านค้าได้อีก
จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย
17,476,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้ถูกชักชวนให้โอนเงินลงทุนเทรดคริปโต
อ้างผลตอบแทนกำไรสูง โดยให้โอนเงินลงทุนเรื่อย ๆ ตามคำแนะนำ แต่เมื่อต้องการถอนเงินไม่สามารถถอนเงินออกมาได้
ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance
Scam) มูลค่าความเสียหาย 1,583,400 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายรู้จักพูดคุยกับมิจฉาชีพผ่านช่องทาง
X ใช้ชื่อว่า "Honey" @Honey982XXX
เปิดเผยสาธารณะ รูปภาพโพรไฟล์เพศหญิง รูปร่างดี สีผิวขาว ผมยาว (แต่ปิดบังใบหน้า)
มีการโพสต์ข้อความเดือดร้อนเงินทางการศึกษาการและเงินรายได้ครอบครัวไม่เพียงพอ ผู้เสียหายเกิดความสงสาร
จึงได้โอนเงินไปให้ ภายหลังเชื่อว่าตนเองน่าจะถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 หลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์
มูลค่าความเสียหาย 1,025,203 บาท รายละเอียดคดี พบว่า มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ
จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทรศัพท์ติดต่อเข้ามาหาผู้เสียหาย แจ้งว่าเงินในบัญชีของผู้เสียหายได้มาโดยผิดกฎหมาย
และมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยให้ผู้เสียหายโอนเงิน
ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และกรอกข้อมูลยืนยันจากลิงก์ที่ส่งมาให้ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้
โอนเงินและกรอกยืนยันข้อมูลดังกล่าวไป ภายหลังผู้เสียหายเช็คยอดเงินในบัญชีของตนพบว่า
ได้ถูกโอนออกไปจากบัญชี จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
และ คดีที่ 5 หลอกลวงเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าความเสียหาย 28,300,000 บาท รายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้รู้จักมิจฉาชีพผ่านแอปพลิเคชันทาง Line ชักชวนให้ร่วมลงทุนเทรดคริปโต อ้างผลตอบแทนกำไรสูง ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินไปตามที่มิจฉาชีพแนะนำ พอจะถอนเงินออกมาใช้ไม่สามารถอนได้ และมิจฉาชีพแจ้งผู้เสียหายว่า หากจะถอนเงินออกมาใช้ ให้โอนเงินไปเพื่อเป็นค่าปรับ แต่ผู้เสียหายไม่ได้โอนไป จึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก รวมมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี 48,398,603 บาท
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความเป็นกังวล และขอให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาผ่านโทรศัพท์ และสื่อสังคมออนไลน์ หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นมิจฉาชีพ ให้วางสายทันที และแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแล
“ดีอี ขอเตือนภัยให้ประชาชนระวังการหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่ติดต่อเข้ามาในหลากหลายรูปแบบ
ให้สังเกต และงดรับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย รวมทั้งไม่พูดคุยกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่รู้จักที่เข้ามาทักทายและขอเป็นเพื่อนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
ขอให้ท่านอย่าไว้ใจหรือตระหนักเสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง อย่าไว้ใจคนแปลกหน้า
เพื่อป้องกันการถูกกลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพจนหมดตัวได้
รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้วย”
นางสาววงศ์อะเคื้อ กล่าว
ทั้งนี้ หากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน สามารถระงับบัญชีคนร้ายและขอคำปรึกษาคดีภัยออนไลน์ได้ที่ สายด่วน AOC 1441