21 มี.ค. 2567 14,699 6

กรมอุตุนิยมวิทยา จัดกิจกรรมวิชาการเฉลิมฉลองเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก พ.ศ. 2567

กรมอุตุนิยมวิทยา จัดกิจกรรมวิชาการเฉลิมฉลองเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก พ.ศ. 2567

21 มี.ค. 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา จัดงานเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก 2567At The Frontline of climate action” เปิดบ้านเชิญชวนทุกภาคส่วนรับรู้และตระหนัก จับมือขับเคลื่อนภารกิจเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ความยั่งยืน ชมการเสวนาผู้แทน WMO และผู้แทนจากหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในภารกิจการขับเคลื่อนและจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ปิดท้ายด้วยแง่มุมที่น่าสนใจที่คนรุ่นใหม่ขอแชร์ ให้คนไทยได้รู้กับทอล์กโชว์ “คนไทยปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร” 


เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 กรรวี  สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวกับผู้สื่อข่าวในพิธีเปิดงานสัมมนาวิชาการเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “At The Frontline of climate action : การขับเคลื่อนภารกิจเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ความยั่งยืน”



โดยมี ประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน 

พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์  วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมพิธีเปิดกิจกรรม ณ อาคารหอประชุมกรมอุตุนิยมวิทยา ถนนสุขุมวิท เขตบางนา กรุงเทพฯ


อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า วันที่ 23 มีนาคมของทุกปีเป็นวันอุตุนิยมวิทยาโลก ปีนี้จัดขึ้นภายใต้ประเด็นที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO : World Meteorological Organization) กำหนดให้เป็นวาระที่ต้องการผลักดันให้สังคมโลกได้รับรู้และตระหนักถึงภารกิจของ WMO และประเทศสมาชิกที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและเป็นแนวหน้าของภารกิจต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความสำคัญของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เพื่อร่วมกันสร้างโลกที่ปลอดภัย 


ในปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ร่วมจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก โดยกำหนดจัดงานในวันที่ 21 มีนาคม 2567 เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ในรูปแบบงานสัมมนาวิชาการที่เรียบง่าย การจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับกิจกรรมและนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ส่วนแรก คือการจัดทำคำปราศรัยเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยาโลก พ.ศ. 2567


โดย ประเสริฐ  จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะผู้แทนของหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาประเทศไทย เป็นผู้กล่าวคำปราศรัย ออกอากาศในวันที่ 23 มี.ค. 2567 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง 5) เวลา 13.32-13.35 น.


ส่วนต่อมา คือกิจกรรมวิชาการ กำหนดจัดในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. ประกอบด้วย (1) การเสวนาพิเศษ หัวข้อ “At The Frontline of climate action : การขับเคลื่อนภารกิจเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่ความยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจากผู้แทนองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก Mr. Cyrille Honore ตำแหน่ง Director, Disaster Risk Reduction, MHEWS office and Public Services Branch, WMO ฐนโรจน์  วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรรวี  สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมเสวนา


และ (2) การเสวนา “การจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย” โดยมี พงษ์พันธ์  กรวยทอง ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รัชกฤต  สงวนชีวิต Business Value Creation Division Manager บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ ดร. ชลัมภ์  อุ่นอารีย์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการพิเศษ กรมอุตุนิยมวิทยา ดำเนินรายการโดย วีริศ  หุ่นเจริญ ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

จากนั้น ในช่วงบ่ายซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนที่สาม จัดให้มีการร่วมแสดงความคิดเห็นและแสดงความสามารถในกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ประกอบด้วย (1) เวทีการพูด (Talk Show) หัวข้อ “การจัดการเชิงรุกเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ต่อด้วยกิจกรรมการประกวดร้องเพลงเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. สุรวงศ์  วัฒนกูล นักทอล์คโชว์รายการทีวีวาที ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน และ (2) กิจกรรมประกวดร้องเพลงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเนื่องในวันอุตุนิยมวิทยา


ส่วนสุดท้าย คือการจัดแสดงนิทรรศการที่นำเสนอกิจกรรมและนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยกรมอุตุนิยมวิทยา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ทั้งนี้ สามารถรับชมผ่านการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ที่เพจ “กรมอุตุนิยมวิทยา” อีกช่องทางหนึ่งด้วย



อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวในช่วงท้ายว่า กรมอุตุนิยมวิทยาในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ขับเคลื่อน และเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในภารกิจรับมือกับความท้าทายและความผันผวนที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมรับฟังและยินดีทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน และขอเป็นแนวหน้าของภารกิจการต่อสู้เพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน