ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นสะท้อนถึงความคล่องตัวและประสิทธิภาพของเสียวหมี่ในการดำเนินธุรกิจ
เสียวหมี่ คอร์เปอเรชัน ("เสียวหมี่" หรือ "กลุ่มธุรกิจ"; Stock Code:1810) บริษัทด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะด้วยการเป็นผู้นำด้านสมาร์ทโฟนและสมาร์ทฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) เผยผลการดำเนินงานที่สอบทานแล้ว สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 (“ช่วงเวลา”) ในปี 2566 รายรับรวมของกลุ่มธุรกิจอยู่ที่ 271.0 พันล้านหยวน ในขณะที่กำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้น 126.3% เป็น 19.3 พันล้านหยวน โดยกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วสูงขึ้นเกินความคาดหมายของตลาด และนับเป็นยอดกำไรที่สูงสุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในไตรมาส 4 ปี 2566 รายรับรวมของเสียวหมี่เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน โดยแตะ 73.2 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 10.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) และกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้น 236.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) เป็น 4.9 พันล้านหยวน
ตลอดปี 2566 เสียวหมี่ได้ใช้กลยุทธ์การดำเนินงานหลักที่ “มุ่งเน้นทั้งในด้านขนาดและความสามารถในการทำกำไรควบคู่กัน” นอกจากนี้ ปี 2566 ยังถือเป็นปีแรกที่เสียวหมี่ได้อัปเกรดกลยุทธ์องค์กรในรูปแบบระบบนิเวศอัจฉริยะแบบ “คน × รถยนต์ × บ้าน” (“Human × Car × Home”) สำหรับผลการดำเนินงาน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เสียวหมี่มีกำไรเติบโตพุ่งสูงขึ้น และในช่วงครึ่งหลังของปี มีรายรับรายไตรมาสที่ฟื้นตัวขึ้น ผลการดำเนินงานที่เป็นตัวชี้วัดทั้งสองนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวและประสิทธิภาพในการเติบโตที่โดดเด่นของกลุ่มธุรกิจ ในส่วนของการพัฒนาระบบนิเวศ เสียวหมี่ได้เปิดตัวระบบปฏิบัติการใหม่ “Xiaomi HyperOS” และจัดงานเปิดตัวเทคโนโลยี Xiaomi EV นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในซีรีส์ Xiaomi SU7 ในวันที่ 28 มีนาคม 2567 เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับพอร์ตโฟลิโอระบบนิเวศของกลุ่มธุรกิจ
กลยุทธ์สินค้าและบริการในกลุ่มพรีเมียม (premiumization) ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความต้องการสูงขึ้นในสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธง (flagship)
ในส่วนของสมาร์ทโฟน ยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกของเสียวหมี่สูงถึงประมาณ 145.6 ล้านเครื่องในปี 2566 โดยมีรายรับจากสมาร์ทโฟนต่อปีอยู่ที่ 157.5 พันล้านหยวน และอัตรากำไรขั้นต้นที่ 14.6% จากข้อมูลของ Canalys เสียวหมี่ยังคงรักษายอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกเป็นอันดับ 3 เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ในไตรมาส 4 ปี 2566 ยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั่วโลกของกลุ่มธุรกิจมีจำนวน 40.5 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 23.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY)
ท่ามกลางการแข่งขันในตลาด เสียวหมี่ยังคงเปิดรับนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และก้าวต่อไปในตลาดสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม ในปี 2566 ราคาขายเฉลี่ย (“ASP”) ของสมาร์ทโฟนของกลุ่มธุรกิจในจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 19% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) นอกจากนี้ ในปี 2566 ส่วนแบ่งการตลาดของเสียวหมี่ในการขายสมาร์ทโฟนในกลุ่มราคา 4,000-6,000 หยวนในจีนแผ่นดินใหญ่ยังสูงถึง 16.9% เพิ่มขึ้น 9.2 จุดเปอร์เซ็นต์จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) อันดับยอดขายในกลุ่มราคาเดียวกันเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1 ในไตรมาส 4 นอกจากนี้ สัดส่วนยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมของเสียวหมี่ในประเทศจีน (รุ่นที่มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 3,000 หยวนขึ้นไป) ยังมียอดกว่า 20% ของยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนทั้งหมดของกลุ่มธุรกิจในปีนี้
ในฐานะหนึ่งในแบรนด์ระดับโลกที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของจีน สมาร์ทโฟนเสียวหมี่ยังคงรักษาตำแหน่งอันแข็งแกร่งในตลาดโลกเมื่อปีที่แล้ว จากข้อมูลของ Canalys ในปี 2566 ยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ติดอันดับหนึ่งในสามอันดับแรกใน 51 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก และติดอันดับหนึ่งในห้าอันดับแรกใน 65 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่อยู่ในอันดับที่ 2 ในตะวันออกกลาง และอันดับที่ 3 ในละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีส่วนแบ่งการที่ตลาดเติบโตในภูมิภาคเหล่านี้ทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น สมาร์ทโฟนรุ่นเรือธง (flagship) ยังได้รับเสียงชื่นชมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Xiaomi 14 series ที่มอบประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมแก่ผู้ใช้
กลยุทธ์การดำเนินงานค้าปลีกใหม่ของเสียวหมี่ “การบูรณาการหน้าร้าน” ประสบผลสำเร็จด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพของร้านค้าปลีกออฟไลน์อย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2566 ส่วนแบ่งการตลาดของเสียวหมี่ในยอดการจัดส่งสมาร์ทโฟนผ่านช่องทางออฟไลน์ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็น 8.4%
จำนวนอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม AIoT สูงเป็นประวัติการณ์ และได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางในตลาดต่างประเทศ
ในปี 2566 รายรับจากผลิตภัณฑ์ IoT และผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ของเสียวหมี่อยู่ที่ 80.1 พันล้านหยวน และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 16.3% ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวนอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อ (ไม่รวมสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และ แล็ปท็อป) บนแพลตฟอร์ม AIoT ของเสียวหมี่สูงถึง 739.7 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 25.5% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) จำนวนผู้ใช้ที่มีอุปกรณ์ห้าเครื่องขึ้นไปเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์ม AIoT (ไม่รวมสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแล็ปท็อป) สูงถึง 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) และจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนของแอป Mi Home ของกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 85.8 ล้านในเดือนธันวาคม 2566
เสียวหมี่ยังคงขยายขอบเขตการใช้ชีวิตอัจฉริยะและได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน Xiaomi TV ได้พัฒนากลยุทธ์ premiumization จากข้อมูลของ All View Cloud ในปี 2566 ยอดการจัดส่งทีวีของเสียวหมี่ติดอันดับหนึ่งในห้าอันดับแรกของโลก ในปี 2566 เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะขนาดใหญ่ของเสียวหมี่ยังคงรักษาระดับการเติบโตในด้านยอดขาย โดยมีรายรับเพิ่มขึ้นเกือบ 40% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ยอดการจัดส่งแท็บเล็ตทั่วโลกของ Xiaomi เกิน 5 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) โดยเฉพาะอย่างยิ่งยอดการจัดส่งแท็บเล็ตประจำปีของเสียวหมี่ในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นสองเท่าจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) สำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์อุปกรณ์สวมใส่ เสียวหมี่ยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำอุตสาหกรรมด้วยคุณสมบัติที่ครอบคลุมและกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย จากข้อมูลของ Canalys ในปี 2566 ยอดการจัดส่งสายรัดข้อมือแบบสวมใส่ของเสียวหมี่อยู่ในอันดับที่ 2 ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และในตลาดโลก และยอดการจัดส่งหูฟังไร้สาย TWS อยู่ในอันดับที่ 2 ในประเทศจีน
มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันเพื่อกระตุ้นการเติบโตอย่างยั่งยืนในธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต
ในปี 2566 บริการอินเทอร์เน็ตของกลุ่มธุรกิจทำสถิติสูงสุดทั้งในด้านรายรับและอัตรากำไรขั้นต้น โดยมีรายรับจากบริการอินเทอร์เน็ตสูงถึง 30.1 พันล้านหยวน และอัตรากำไรขั้นต้นของบริการอินเทอร์เน็ตอยู่ที่ 74.2% ด้วยการดำเนินงานทั่วโลก จำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนของเสียวหมี่ทั่วโลกและในจีนแผ่นดินใหญ่ (รวมถึงสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต) มีจำนวนถึง 641.2 ล้านราย และ 155.6 ล้านราย ตามลำดับ
ในด้านความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในระดับโลก เสียวหมี่ใช้แนวทางที่เปิดกว้าง เพื่อปลดปล่อยศักยภาพในการสร้างรายได้จากธุรกิจ ในปี 2566 รายรับจากบริการอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศของเสียวหมี่เพิ่มขึ้น 24.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) เป็น 8.4 พันล้านหยวน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์และคิดเป็น 28.0% ของรายรับจากบริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมดของกลุ่มธุรกิจ
ในขณะที่เสียวหมี่ยังคงเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานทั่วทั้งแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง รายรับจากการโฆษณาของกลุ่มธุรกิจสูงถึง 20.5 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 11.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) นอกเหนือจากความก้าวหน้าของกลยุทธ์สมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมแล้ว จำนวนผู้ใช้งานและผู้ใช้งานที่ชำระเงินของธุรกิจเกมของกลุ่มธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายรับจากการเกมแตะ 4.4 พันล้านหยวนในปี 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้น 7.0% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY)
เสียวหมี่ตั้งเป้าหมายใหม่สำหรับปี 2563-2573 โดยมุ่งลงทุนในเทคโนโลยีหลักที่เป็นรากฐานเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับโลก
ในปี 2566 เสียวหมี่ได้ประกาศเป้าหมายใหม่สำหรับปี 2563-2573 กลุ่มธุรกิจมุ่งมั่นที่จะลงทุนอย่างยั่งยืนในเทคโนโลยีหลักพื้นฐาน และมุ่งสู่การเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยระดับโลก ในปี 2566 เงินด้านการวิจัยและพัฒนา (“R&D”) ของเสียวหมี่อยู่ที่ 19.1 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 19.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 กลุ่มธุรกิจมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา 17,800 คน คิดเป็น 53% ของพนักงานทั้งหมด
เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เสียวหมี่ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ EV ตัวแรกในซีรีส์ Xiaomi SU7 ในงานเปิดตัวเทคโนโลยี Xiaomi EV งานดังกล่าวจัดแสดงเทคโนโลยีหลักทั้งห้าของ Xiaomi EV ซึ่งนับเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในธุรกิจใหม่ของเสียวหมี่