ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่ากระทรวงฯได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเชียนจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN Working Group on Anti – Online Scams เพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และแก็ง Call center โดยมีการประชุมกันครั้งที่ 1 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา
“การประชุมคณะทำงาน WG-AS ถือเป็นผลสำเร็จของประเทศไทยที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งคณะทำงานดังกล่าวในระดับภูมิภาคอาเซียนขึ้น
เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือและประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิก ในการต่อสู้กับภัยหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดขึ้นในระดับประเทศและระดับอาเซียน
ซึ่งเพิ่มมากขึ้นทั้ง ปริมาณของการหลอกลวง (cases) และมูลค่าความเสียหาย
นอกจากนี้ ไทยยังได้รับความไว้วางใจและการสนับสนุนจากสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ในการทำหน้าที่ประธานคณะทำงานใน 2 ปี แรก เพื่อผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาค” ปลัดกระทรวงดีอี กล่าว
ในระหว่างการประชุม WG – AS มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันการหลอกลวงออนไลน์ในอาเซียนมีหลากหลายช่องทาง
อาทิ SMS โทรศัพท์ และผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนกฎหมาย
กฎระเบียบ แนวทางการจัดการปัญหา การตอบโต้มิจฉาชีพในรูปแบบต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมจำนวนซิม
หมายเลขโทรศัพท์มือถือ การลบหรือปิดกั้น URL การเจรจากับผู้ประกอบการสื่อสังคมออนไลน์
การปราบปรามและจับกุม การให้ความรู้และแจ้งเตือนประชาชน เป็นต้น ซึ่งพบว่า ยังมีช่องว่างหรือ
Gaps จากการดำเนินมาตรการของแต่ละประเทศ และยังไม่มีแนวทางที่ผู้เสียหายจะได้รับเงินคืน
เป็นต้น ดังนั้น ที่ประชุมได้มีการตกลงให้มีแลกเปลี่ยนและรวบรวมข้อมูลระหว่างกัน
อาทิ สถานะ นโยบาย การกำกับดูแล กฎระเบียบ มาตรการต่างๆ ของแต่ละประเทศ เพื่อยกระดับไปสู่มาตรการและนโนบายการป้องกันและปราบปรามการหลอกลวงออนไลน์ในระดับอาเซียน
เช่น การปิดกั้นเว็บไซต์ในอาเซียน การกำหนดกลไกประสานงานโดยแต่งตั้งผู้ประสานงานหลักของแต่ละประเทศ
เพื่อติดต่อและประสานความร่วมมือได้อย่างทันท่วงทีและแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยเฉพาะภัยหลอกลวงออนไลน์ที่เกิดขึ้น
รวมทั้ง การพิจารณาแผนการทำงานของคณะทำงานต่อไป โดยจะมีการประชุมหารือทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น
อาทิ แนวทางการจัดทำกลไกแลกเปลี่ยนข้อมูลและหลักฐานเกี่ยวกับการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ระหว่างอาเซียน
การจัดประชุม/สัมมนา การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญ องค์กรระหว่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ
เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ได้มีการร่วมหารือทวิภาคี กับ H.E. Chenda Thong ประธานหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (Telecommunication Regulator of Cambodia หรือ TRC) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ โดยเป็นการยกระดับการดำเนินการเพื่อปราบปรามแก๊ง Call Center และ Online Scam ซึ่งเป็นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการยกระดับความร่วมมือและการดำเนินงานของอาเซียนในการจัดการและรับมือกับปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์จากการประชุมหารือทวิภาคี ไทยได้แลกเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับกัมพูชา ซึ่งพบว่าหลายเรื่องมีแนวทางดำเนินการคล้ายกัน แต่มีข้อสังเกตว่ากัมพูชามีแนวทางในการปิดกั้น URL ที่เข้าข่ายหลอกลวง และการส่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมและ ISP ดำเนินการปิดกั้นที่มีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
กัมพูชาพร้อมจะให้ความร่วมมือกับไทยเกี่ยวกับปัญหาที่คนไทยข้ามแดนไปทำงานเป็นแก๊ง Call Center ปัญหาบัญชีม้า และในกรณีที่มีการจับและส่งตัวกลับหรือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีชั้นความลับ หรืออาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เห็นควรให้มีการประสานงานกับสถานทูตไทยในกัมพูชาอย่างใกล้ชิด และเพื่อให้การดำเนินการในเรื่องนี้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันให้มีแพลตฟอร์มในการติดต่อระหว่างกันทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันในการขยายกรอบความร่วมมือเดิม โดยจัดทำความร่วมมือ (Memorandum of Understanding: MOU) ฉบับใหม่ เพื่อขยายขอบเขตของความร่วมมือ ที่จะทำให้ทั้งไทยและกัมพูชาสามารถทำหลายๆ เรื่องในการป้องกันภัยจากเทคโนโลยีได้เพิ่มมากขึ้น และเห็นชอบให้จัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ จากการหารือกัมพูชายินดีร่วมกันแก้ไขปัญหาสถานสัญญาณโทรคมนาคมผิดกฎหมายบริเวณชายแดน โดยสำนักงาน กสทช.จะประสานงานกับทาง TRC และในด้าน Cybersecurity กัมพูชาแสดงความยินดีที่ สกมช. จะให้การสนับสนุน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ThaiCERT และ CambodiaCERT ที่ดีระหว่างกัน
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวต่อว่า คนไทยจำนวนมากที่ข้ามมาทำงานในกัมพูชา อาจจะไม่ใช่เหยื่อและอาจมีการทำความผิดอาญาในประเทศไทย แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน ดังนั้น สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ จะประสานงานและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงฯ โดยศูนย์ AOC เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับคนไทยที่มาทำงานแก็งคอลเซ็นเตอร์ให้เข้มข้นมากขึ้นว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเข้าข่าย หรือมีพฤติกรรมการเปิดบัญชีม้าหรือไม่ เพื่อสนับสนุนงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย การสกัดกั้นการหลอกลวง รวมถึงเป็นกลไกสำคัญในการขยายผลและติดตามการฟอกเงิน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย
ในการประชุมผู้นำเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัลและผู้นำสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน
อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 1 (The 1st ASEAN Digital Senior Officials Meeting -
ASEAN Telecommunications Regulators’ Council Leaders’ Retreat) ประจำปี
2567 เพื่อร่วมหารือและขับเคลื่อนการดำเนินงานความร่วมมือด้านดิจิทัล
ภายใต้แผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล ค.ศ. 2025 (ASEAN Digital Masterplan
2025) ระหว่างวันที่ 19-21 มีนาคม 2567 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา พร้อมกันนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอ 3 โครงการเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือในเวทีอาเซียน ได้แก่
(1) โครงการ Enhancing Digital
Transformation with AI Skill among ASEAN มุ่งเน้นการพัฒนากรอบแนวทาง
AI Literacy และจัดทำมาตรฐานการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน
เพื่อรองรับและประเมินความพร้อมทักษะบุคลากรอาเซียนกับการประยุกต์ใช้ AI ในองค์กร
(2) โครงการ ASEAN Digital Capacity Building for Smart Cities: ASEAN Chief Smart City Officers (ASEAN-CSCO) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการปรับเปลี่ยนไปสู่เมืองอัจฉริยะของประเทศสมาชิกอาเซียน ผ่านการถอดบทเรียนของเทศบาลนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นต้นแบบของไทยที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการให้บริการประชาชนและต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง
(3) โครงการ The Development of Guidelines for Digital Platform Regulation in ASEAN เพื่อศึกษาวิวัฒนาการ และสถานะการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลของประเทศในอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาจัดทำเป็นข้อเสนอแนะและแนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลในระดับภูมิภาคอาเซียนที่เหมาะสม
ที่ประชุมได้เห็นพ้องร่วมกันและมีมติให้ประเทศไทยเป็น ผู้ดำเนิน โครงการ Final Review of ASEAN Digital Masterplan 2025 ASEAN Digital Masterplan 2025 ซึ่งเป็นโครงการสำคัญ ที่จะทบทวนและประเมินผลแผนแม่บท ADM 2025 ซึ่งมีการดำเนินโครงการต่าง ๆ มาตั้งแต่ ปี ค.ศ 2020-2025 เพื่อประเมินความสำเร็จของอาเซียน ตามเป้าประสงค์ของแผนแม่บท ในการปรับเปลี่ยนอาเซียนให้เป็นประชาคมผู้นำด้านดิจิทัลและขับเคลื่อนบริการ เทคโนโลยี และระบนิเวศด้านดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการวางแนวนโยบายที่เหมาะสมในการพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียนในระยะถัดไป และสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียนปี 2030
“การไปเยือนกัมพูชาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก ในการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ และไทยยังเป็นแกนนำประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันยกระดับการแก้ปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ส่งต่อแนวปฏิบัติที่ดีของไทยไปสู่กรอบอาเซียน อาทิ การจัดตั้งศูนย์ AOC 1441 และการออกพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 และในท้ายที่สุดเมื่อทุกประเทศมีความเข้มแข็งจะทำให้อาชญากรรมออนไลน์ซึ่งเป็นอาชญากรรมข้ามชาติดำเนินการได้ยากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยและพี่น้องชาวอาเซียนในระยะยาว ดีอียังได้ผลักดันความร่วมมือและโครงการด้านดิจิทัลต่างๆ ในกรอบอาเซียนอย่างต่อเนื่อง อาทิ ด้านการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน เมืองอัจฉริยะ และการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมทั้งประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากอาเซียนให้เป็นผู้ดำเนินโครงการการประเมินผลความสำเร็จของแผนแม่บทดิจิทัลของอาเซียนด้วย” ปลัดกระทรวงดีอี กล่าว