25 มี.ค. 2567 790 8

ไปรษณีย์ไทย เผยยอดคนไทยส่ง reBOX ทะลุ 5.3 แสนกิโลฯ พร้อมสานต่อ ESG+E เป็นขนส่งยั่งยืน เตรียมเปิดที่ทำการฯ 'กรีนฮับ'

ไปรษณีย์ไทย เผยยอดคนไทยส่ง reBOX ทะลุ 5.3 แสนกิโลฯ พร้อมสานต่อ ESG+E เป็นขนส่งยั่งยืน เตรียมเปิดที่ทำการฯ 'กรีนฮับ'

ริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยความสำเร็จของโครงการ reBOX ตลอด 4 ปี มีกล่อง ซอง และกระดาษไม่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 530,000 กิโลกรัม โดยในปี 2566 สามารถรวบรวมกล่องและซองกระดาษได้มากกว่า 137,000 กิโลกรัม ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 776.44 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมเผยแนวทางการลงทุน และกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ผ่านแนวคิด ESG+E ที่จะดำเนินงานใน 4 มิติได้แก่ มิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environment : E) ด้านสังคม (Social : S)  ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance : G) และด้านเศรษฐกิจ (Economy : E) อาทิ การพัฒนาระบบงานไปรษณีย์ให้เป็นระบบประหยัดพลังงาน การสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร นอกจากนี้ ยังเตรียมใช้พื้นที่ที่ทำการไปรษณีย์ เปิด Green Hub” ตั้งจุดรับรวบรวมวัสดุประเภทต่าง เพื่อนำเข้าสู่การจัดการอย่างถูกวิธี เช่น e-Waste การรับบริจาคอะลูมิเนียมฯลฯ


ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เผยว่า ไปรษณีย์ไทยมีแผนการลงทุน และกลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืนในธุรกิจขนส่งของไปรษณีย์ไทย ตามวิสัยทัศน์ใหม่คือ ส่งมอบการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านเครือข่ายไปรษณีย์ : Delivering Sustainable Growth Through Postal Network โดยได้ตั้งเป้าหมายความยั่งยืนตามกลยุทธ์ ESG+E  เพื่อใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานในปี 2567-2571 ผ่านแนวทาง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment : E)  โดยพัฒนาระบบงานไปรษณีย์ให้เป็นระบบประหยัดพลังงานและคาดว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 30% ภายในปี 2573 เพิ่มการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในธุรกิจโลจิสติกส์ เช่น กล่อง ซอง พลาสติกกันกระแทกเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ และอยู่ระหว่างการศึกษาการใช้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนในรถยนต์ขนส่ง รวมทั้งพลังงานหมุนเวียน และพลังงานทางเลือกกับพันธมิตร 


ด้านสังคม (Social : S)  สนับสนุนช่องทางการกระจายสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน สินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งเป็นสินค้าตัวท็อปจากทั่วประเทศมาจำหน่ายและส่งตรงถึงผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์ม Thailandpostmart และไปรษณีย์ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2560 ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มเกษตรกรแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการไปรษณีย์เชื่อมสุขสนับสนุนผู้ประกอบการชุมชนต่อยอดภูมิปัญญา พัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน จำหน่ายผ่านไปรษณีย์ทั่วประเทศและเว็บไซต์ Thailandpostmart โดยตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบันสามารถสร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนรวมกว่า 33 ล้านบาท รวม17 จังหวัด 23 พื้นที่



ด้านการกำกับดูแลกิจการ (Governance : G) มุ่งเน้นการบริหารงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงการดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นธรรม รักษาและปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ด้านเศรษฐกิจ (Economy : E) มุ่งเน้นการสร้างรายได้จากนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่องค์กร และชีวิตดิจิทัลที่มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยการขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญ เช่น Postman Cloud ให้บริการกับลูกค้า พันธมิตรที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย (Postman Networking) หรือบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนทั่วประเทศ Prompt Post บริการด้านการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร และ Digital Post ID การปรับเปลี่ยนตำแหน่งที่อยู่แบบเดิม ให้เป็นที่อยู่ดิจิทัล (Digital Address) รวมถึงการจัดส่งสิ่งของในรูปแบบจ่าหน้า QR CODE เป็นต้น


นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังตั้งเป้าหมายสร้างความยั่งยืนในระยะยาว โดยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ..2593 ตามเป้าหมายระยะยาวของไทย ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี ..2608 ส่วนในระยะเร่งด่วนนี้ ไปรษณีย์ไทยได้เร่งปรับปรุงระบบงานไปรษณีย์ให้เป็นระบบประหยัดพลังงานตั้งแต่กระบวนการรับฝากจนถึงการนำจ่าย เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ จากการปรับปรุงระบบงานนำจ่ายให้เป็นแบบรวมทุกบริการเพื่อลดการทับซ้อนของเส้นทางนำจ่าย และการปรับรวมสายขนส่งไปรษณีย์ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้มากกว่า 35%



ดร.วราภรณ์ ข้องเกี่ยวพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานกลยุทธ์และการขับเคลื่อนองค์กร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยได้ขับเคลื่อนความยั่งยืนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ reBOX มาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สามารถส่งคืนกล่องและซองกระดาษที่ไม่ใช้แล้วรวมกว่า 530,000 กิโลกรัมเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีโดย บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด(มหาชน) หรือ SCGP และในปี 2566 ไปรษณีย์ไทยสามารถรวบรวมกล่องและซองกระดาษจากทุกภาคส่วนได้มากกว่า 137,000 กิโลกรัม นำไปรีไซเคิลภายใต้แนวคิด กล่องรักที่สัมผัสได้ซึ่งเป็นสิ่งของจำเป็นเพื่อผู้พิการ มอบให้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมประชาคมคนตาบอดไทย และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย โดยจากกระบวนการรีไซเคิลดังกล่าวช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 776.44 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และจากความสำเร็จดังกล่าวไปรษณีย์ไทยขอขอบคุณคนไทย หน่วยงานพันธมิตร 68 องค์กรจากภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ที่ร่วมส่งกล่อง/ซองที่ไม่ใช้แล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลให้กลับมามีคุณค่าอีกครั้งตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับองค์กรอื่น ๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมสร้างเครือข่ายการเติบโตที่ยั่งยืนเพื่อคนไทย ตลอดจนเป็นการสร้างเส้นทางการเดินทางของกระดาษเหลือใช้จากเดิมที่เป็นเพียงการซื้อขาย การกำจัดที่ยังไม่ถูกวิธี ให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น







ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งเป็นศูนย์กลางในด้านการจัดการขยะหลากประเภทภายใต้โครงการ “Green Hub” ที่จะร่วมกับภาคีเครือข่ายร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม และใช้พื้นที่ของที่ทำการไปรษณีย์ตั้งจุดรับรวบรวมวัสดุประเภทต่าง ๆ นำเข้าสู่กระบวนการจัดการ/ แปรรูปได้อย่างถูกต้องและมีประโยชน์ โดยประกอบด้วยแคมเปญ reBOX ที่เป็นโครงการสร้างคุณค่าและมูลค่าจากกล่องซอง โครงการ e-Waste ร่วมกับ AIS รับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช้แล้ว ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ รับบริจาคอะลูมิเนียมเพื่อจัดทำขาเทียมพระราชทาน โครงการ "วน" ที่รับพลาสติกยืด เช่น ซองพลาสติกไปรษณีย์ ถุงพลาสติกหูหิ้ว จาก บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด หรือ (TPBI)  เพื่อเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจไปรษณีย์ เช่น พาเลทผลไม้ การดำเนินโครงการ "GC YOUเทิร์น" ที่เปิดรับพลาสติกใส (PET) และพลาสติกขุ่น (HDPE) เช่น ขวดน้ำดื่ม แกลลอนนม จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อเปลี่ยนพลาสติกใช้แล้วเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจไปรษณีย์ และเสื้อผ้าอัพไซเคิลเพื่อประโยชน์แก่สังคมต่อไป





ติดตามข่าวสารไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมได้ที่

เว็บไซต์ www.thailandpost.co.th

เฟซบุ๊ก : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด

X : @Thailand_Post

ไลน์ออฟฟิเชียล : @Thailand Post

ติ๊กต็อก : @thailandpostchannel