ดีป้า และ กฟภ. ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการศึกษา เพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยการส่งเสริมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และร่วมขับเคลื่อนพื้นที่ในประเทศสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล มุ่งยกระดับทักษะบุคลากรรัฐ – เอกชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพัฒนาระบบบริการเมืองอัจฉริยะ และนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่จริง อีกทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และ ประสิทธ์ จันทร์ประสิทธิ์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยมี สถาพร สว่างแสง ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด (ธุรกิจวิศวกรรม) กฟภ. และ ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เป็นพยานในพิธี ณ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่
ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง กฟภ. และ ดีป้า ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนพื้นที่ในประเทศสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อพัฒนาระบบบริการเมืองอัจฉริยะและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่จริง ควบคู่ไปกับการยกระดับทักษะบุคลากรภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
“การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยจะต้องดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ขององค์ประกอบของแผนการพัฒนา ได้แก่ การกำหนดขอบเขตพื้นที่เป้าหมายและวิสัยทัศน์ของผู้นำเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางกายภาพและดิจิทัล การพัฒนาระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลของเมือง (City Data Platform: CDP) การพัฒนาระบบบริการเมืองอัจฉริยะทั้ง 7 ด้าน (7 Smarts) และการวางรากฐานและแนวทางสู่ความยั่งยืน ซึ่ง ดีป้า มองว่า กฟภ. จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน และระบบบริการเมืองอัจฉริยะด้านพลังงานอัจฉริยะ เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Inclusive Sustainable Smart City for All)” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
ด้าน ประสิทธิ์ กล่าวว่า กฟภ. เป็นองค์กรที่มุ่งมั่นให้บริการพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจเกี่ยวเนื่องครบวงจรและมีประสิทธิภาพ มั่นคง ปลอดภัย เชื่อถือได้ พร้อมขับเคลื่อนองค์กรสู่องค์กรไฟฟ้าอัจฉริยะ พัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่องด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย Digital Grid & Green Energy โดยในปี 2567 กฟภ. มีแผนดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในมิติด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) การเดินทางและระบบขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เพื่อศึกษารูปแบบและแนวทางการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะ สร้างความมั่งคงทางพลังงาน เพิ่มขีดความสามารถด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
“การบูรณาการการทำงานกับ ดีป้า ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมศึกษาการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ ส่งเสริม สนับสนุนพื้นที่สู่เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับระบบบริการเมืองอัจฉริยะ โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ พร้อมยกระดับทักษะบุคลากร
ในพื้นที่ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนทั่วไปให้มีความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของแต่ละฝ่ายทั้งทางด้านเทคนิค เทคโนโลยีและนวัตกรรม” รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด กฟภ. กล่าว
ทั้งนี้ ดีป้า โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ได้ดำเนินการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 ปัจจุบันมีเมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยทั้งสิ้น 36 เมืองในพื้นที่ 25 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยมีทั้งประเภทเมืองใหม่ทันสมัย และเมืองเดิมน่าอยู่ โดยตัวอย่างการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่โดดเด่น มีผลงานระบบบริการเมืองอัจฉริยะที่เป็นรูปธรรมและโดดเด่นในด้าน Smart Environment และ Smart Energy ได้แก่ เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเล่ย์ เมืองใหม่ทันสมัยในจังหวัดระยอง แม่เมาะเมืองน่าอยู่ จังหวัดลำปาง และ โคราชเมืองอัจฉริยะ จังหวัดนครราชสีมา รวมถึงสามย่านสมาร์ทซิตี้ เมืองใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ และ ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ ที่โดดเด่นในด้าน Smart Economy, Smart Mobility และ Smart Living ซึ่งพื้นที่ที่สนใจยกระดับสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะสามารถศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.smartcitythailand.or.th