ทุกวันนี้เราต่างมีโลก 2 ใบ ใบแรกคือ โลกแห่งความจริง ส่วนอีกใบที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตไม่แพ้กันก็คือ โลกออนไลน์ ที่เปิดกว้างและไร้ขีดจำกัด สำหรับผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะมากพอนั้นโลกออนไลน์อาจเป็นที่ค้นคว้าหาความรู้ ติดตามข้อมูลข่าวสาร สร้างความบันเทิง พูดคุยกับเพื่อนฝูง ฯลฯ แต่สำหรับเด็กและเยาวชนหลายคนแล้ว โลกออนไลน์นอกจากเด็กจะเอาไว้ใช้ประโยชน์แล้ว อาจเต็มไปด้วยภัยอันตรายที่พร้อมจะพุ่งตรงเข้าถึงตัวได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม Cyberbullying, Fake news การปลุกปั่นทางความคิด และที่น่าห่วงคือปัญหา Online grooming ที่สร้างผลกระทบต่อการใช้ชีวิต นำไปสู่ปัญหาทางจิต และจบชีวิตตัวเองในที่สุด
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ต่างก็ออกมาตั้งคำถามว่า ใครกันแน่ที่จะต้องเข้ามาเป็น “ผู้พิทักษ์แห่งโลกดิจิทัล” (Digital Guardians) ที่จะมาช่วยในมุมของสังคมในการเฝ้าระวังและช่วยลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานโซเชียลมีเดีย ตลอดจนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีอยู่จำนวนมากในปัจจุบันนี้ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนคนใกล้ตัว จนทำให้ล่าสุด ETDA (เอ็ตด้า) หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทเป็นหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล ภายใต้แนวทางการทำงานที่เรียกว่า ‘Co-Creation Regulator’ พร้อมมุ่งส่งเสริม สนับสนุนให้คนไทยชีวิตดีด้วยดิจิทัล จึงเปิดพื้นที่ชวนผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง อดิศร แก้วเล็ก รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย มิ่งขวัญ เหล่าบุศณ์อนันต์ เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกวัยรุ่นให้ถูกทาง by แม่มิ่ง เอกพล บรรลือ บรรณาธิการ The Standard และ อาวุธ สรรพัชญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Kooup แอปพลิเคชันหาคู่ มาร่วมขบคิด แลกเปลี่ยนมุมมอง ใน ETDA LIVE ซีรีส์ DIGITRIBE EP. 2 หัวข้อ “Digital Guardians ใครกันต้องรับบทผู้พิทักษ์แห่งโลกดิจิทัล”
เด็กไทยเสี่ยง Online grooming แต่ไม่กล้าบอก ไม่กล้าแจ้งความ
หากพูดถึงภัยออนไลน์ นอกจากปัญหา Cyberbullying หรือ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ อีกปัญหาที่เด็กและเยาวชนต่างกำลังเผชิญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นวันนี้ คงหนีไม่พ้นปัญหา Online grooming ที่ผู้ใหญ่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่แอปพลิเคชันหาคู่เข้าไปทักทายเด็กหรือเยาวชนเพื่อทำความรู้จัก ตีสนิท พูดคุย ให้เชื่อใจ ไว้ใจ ก่อนนัดเจอแล้วล่วงละเมิดทางเพศ และกระทำซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน! ที่สำคัญ เด็กจำนวนไม่น้อยเสี่ยงตกเป็นเป้านิ่งที่จะถูก Online grooming ได้ตลอดเวลา ซึ่งจากข้อมูลของกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่สำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ในช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 9 - 18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า มีเด็กถึง 81% ที่มี แท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง กว่า 85% ใช้โซเชียลมีเดียเกือบทุกวัน กว่า 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร โดยเด็กอายุ 10 ปีขึ้นไป กว่า 12 % เคยถูก Online grooming ในขณะที่ผลสำรวจของยูนิเซฟ
เมื่อปี 2565 พบว่า เด็กถึง 46% รู้ช่องทางในการรับแจ้งเหตุ แต่มีเพียง 1-3% เท่านั้น ที่กล้าไปแจ้งตำรวจ แสดงให้เห็นว่า ทุกครั้งที่เกิดปัญหามีเด็กกว่า 97% ไม่กล้าไปแจ้งความ จากสถิติที่น่าตกใจนี้ ชี้ให้เห็นว่า นอกจาก เด็กๆ จะเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่ายแสนง่ายแล้ว หนำซ้ำเมื่อถูก Grooming เด็กก็มักเลือกที่จะเงียบไม่บอกใคร กว่าจะได้รับความช่วยเหลือก็สายเกินไป แต่การจะให้เด็กหรือเยาวชน ตัดขาดโลกออนไลน์ ไปเลยก็คงทำไม่ได้ สิ่งที่ทำได้ คือ การสร้างเกราะป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขา
เปลี่ยนพื้นที่ ‘เสี่ยง’ ให้ ‘เซฟ’ เริ่มง่ายๆ ที่ตัว ‘เด็ก’
จากการพูดคุยในเวทีนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ “จริง ๆ แล้วการสร้างพื้นที่ปลอดภัยไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน” หากจะให้เริ่มที่ตัวเด็กเอง ก่อนอื่นเลย เด็กต้องเรียนรู้เรื่อง Digital literacy ทั้งในแง่การเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย และการรู้จักใช้โซเชียลมีเดียอย่างสร้างสรรค์ เช่น รู้จักตั้งค่าความเป็นส่วนตัว ปฏิเสธคำขอเป็นเพื่อนจากคนที่ไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ รู้จักแยกแยะแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้กับแพลตฟอร์มที่มีความเสี่ยง และควรรู้จัก Digital footprint ว่าทุกอย่าง ทุกการกระทำบนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะการรับ-ส่ง ภาพลามกอนาจาร การใช้ Hate speech การแชร์ Fake news การโพสต์ข้อความต่างๆ ด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ล้วนสะท้อนตัวตนของเราเองและจะกลายเป็น Digital footprint ที่จะอยู่ในโลกดิจิทัลตลอดไปและอาจย้อนกลับมาทำร้ายเราในภายหลังได้ ดังนั้น ก่อนโพสต์หรือแชร์อะไรต้องมีสติอยู่เสมอ และที่ขาดไม่ได้ เด็กๆ ควรฝึกให้มี Skill ในการเอ๊ะ! ช่างสังเกต ช่างสงสัย ช่างซักถาม เจออะไรไม่ชอบมาพากล ต้องเอ๊ะ! ไว้ก่อน แล้วรีบปรึกษาผู้ใหญ่ หรือ คนใกล้ชิด และอย่าไว้ใจใครง่ายๆ ต้องจำไว้ว่า โลกออนไลน์ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต
ความรักความผูกพันในครอบครัว คือ เกราะป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุด
แน่นอนว่าเกราะแรกแห่งการป้องกัน คือ ความรักความผูกพันในครอบครัว ผู้ปกครองต้องให้ทั้งความรัก ให้ทั้งความรู้ และสร้างความมั่นใจให้แก่เด็ก ให้ความรัก โดยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด คอยสังเกตความผิดปกติ คอยเป็นที่ปรึกษา ทำให้เด็กๆ ไว้วางใจ กล้าที่จะบอกเล่าปัญหาต่างๆ ให้ฟัง เพื่อปิดช่องว่างของความสัมพันธ์ไม่ให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงได้ ให้ความรู้ ความเข้าใจกับเด็กๆ ถึงสารพัดภัยออนไลน์ที่จะมาในรูปแบบต่างๆ ให้เด็กๆ รู้เท่าทันความเสี่ยงที่พวกเขาจะได้รับ รวมถึงสอนวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยง และสุดท้าย คือ ให้ความมั่นใจ สร้าง Self-esteem ให้กับเด็ก ให้เขามีความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตัวเอง ชมเมื่อเขาทำสิ่งดีๆ แต่หากเขาทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรก็ไม่ควรดุด่าต่อว่าด้วยถ้อยคำที่รุนแรง แต่ควรใช้คำพูดอย่างสร้างสรรค์ อธิบายให้เข้าใจว่าทำไมไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสมอย่างไร พร้อมแนะนำวิธีที่ถูกที่ควร
“สื่อ” กระบอกเสียงขนาดใหญ่ ปลุกสังคมให้ ตื่น-ตระหนักรู้
ตัวแทนของฝั่งสื่อมวลชน ย้ำชัดว่า สื่อนอกจากจะมีบทบาทในการนำเสนอข่าวสารต่างๆ แล้ว ยังมีบทบาทที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยบทบาทสำคัญประการแรก คือ กระตุ้นความตื่นรู้ โดยคอยเป็นกระบอกเสียง สะท้อนปัญหาและถ่ายทอดให้สังคมได้รับรู้ คอยเตือนสังคมให้เกิดการตื่นตัวว่าขณะนี้ ตอนนี้ เด็กและเยาวชนของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เพื่อให้สังคมหันมาสนใจและช่วยกันจับตา ประการที่สอง สร้างเทรนด์ให้เกิดการตระหนักรู้ เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ Online grooming ขึ้น ควรมีการนำมาวิเคราะห์และตีแผ่ว่าเกิดจากอะไร พฤติกรรมแบบไหนที่เข้าข่ายสุ่มเสี่ยงถูก Grooming พ่อแม่ผู้ปกครองควรรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักรู้และช่วยกันเฝ้าระวัง และเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่สะท้อนสถานการณ์ที่สังคมกำลังเผชิญไปหาทางป้องกันและแก้ไข
แพลตฟอร์มต้อง Take action ไม่ลอยตัว ภายใต้ Community standard เดียวกัน
ในวงเสวนา สะท้อนร่วมกันว่า เมื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างโซเชียลมีเดีย คือ ช่องทางที่มาของปัญหา จึงปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้อง Take action ในการปกป้องผู้ใช้งาน โดยควรมีข้อกำหนดและมาตรฐานในการเข้าใช้บริการที่ชัดเจน เช่น ต้องมีการยืนยันตัวตน กำหนดอายุผู้ใช้ และสอดส่องดูแลความปลอดภัยของผู้เล่น ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีกระบวนการแจ้งรายงานที่ไม่ยุ่งยาก และให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนมากกว่าการมุ่งเพิ่มยอด Userโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงที่จะตามมา และสร้างให้เกิดเป็นเทรนด์แพลตฟอร์มยุคใหม่ที่มีจรรยาบรรณและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดเป็นเทรนด์ในอนาคตและเกิดค่านิยมใหม่ว่าถ้าแพลตฟอร์มไหนไม่คำนึงถึงความปลอดภัย ไม่ปกป้องเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้หญิงและคนชรา แพลตฟอร์มนั้นอาจกลายเป็นแพลตฟอร์มเกรดบี หรือแพลตฟอร์มที่สังคมไม่ให้การยอมรับ
นอกจากนี้ ยังเผยอีกว่า วันนี้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เราใช้ๆ กัน มาจากทั่วโลก แต่ละประเทศก็มีกฎหมายและข้อบังคับไม่เหมือนกัน จึงเสนอว่า ไทยเองควรมี Community standard ที่เป็นมาตรฐานที่ทุกแพลตฟอร์มที่ให้บริการในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม เช่น การกําหนดอายุของคนที่ใช้บริการ รวมถึงกำหนดคอนเทนต์ให้มีความเหมาะสม เพราะถ้าปล่อยให้แพลตฟอร์มกำหนดมาตรฐานกันเองแต่ละแพลตฟอร์มก็อาจมีมาตรฐานไม่เหมือนกัน
การเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือ ต้องไม่ซับซ้อน เข้าถึงง่าย
จากสถิติในช่วงต้นจะเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนที่ประสบปัญหาเข้ามาแจ้งความแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ อาจเพราะพวกเขามองว่า กระบวนการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่พนักงานเป็นเรื่องซับซ้อน กว่าจะคุยกันรู้เรื่องหรือเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ ต้องใช้เวลาในการพูดคุย อธิบายเล่าเรื่องราววนไปวนมาหลายๆ ครั้ง ดังนั้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือได้ทันท่วงที ระบบการช่วยเหลือและขั้นตอนทางกฎหมายต้องไม่ยุ่งยาก มีช่องทางที่ใช้ในการติดต่อช่วยเหลือที่ชัดเจนไม่กระจัดกระจาย เพื่อให้เด็กหรือเยาวชนที่ถูกหลอกหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศรู้ว่าจะต้องแจ้งใคร ดำเนินการอย่างไร ที่สำคัญควรมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการกลาง (War room) เฉพาะ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่อง ติดต่อประสานงานและควบคุมการปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้เกิดช่องทาง ที่ง่ายต่อเด็กในการติดต่อขอความช่วยเหลือหรือแจ้งความมากที่สุด อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ เมื่อเกิดเหตุแล้วต้องไม่ปล่อยให้เด็กต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เพราะเด็กที่ถูกล่วงละเมิดจะตกใจ หวาดกลัว ไม่รู้จะทำยังไงต่อ และโดยมากจะไม่กล้าบอกผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิด เพราะรู้สึกอับอาย หรือพอเล่าให้ฟังกลับถูกตำหนิ ถูกต่อว่า ดังนั้น คนรอบข้างต้องคอยให้กำลังใจและไม่ซ้ำเติม
ใครกันล่ะควรเป็น ผู้พิทักษ์แห่งโลกดิจิทัล?
จากการพูดคุยในครั้งนี้ได้ข้อสรุปที่สำคัญว่า โลกไซเบอร์เป็นโลกของพวกเราทุกคน อยากให้โลกใบนี้เป็นแบบไหนเราก็ต้องปฏิบัติแบบนั้น ถ้าอยากให้โลกไซเบอร์เป็นพื้นที่ปลอดภัย เราทุกคนก็ต้องช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยขึ้นมา ช่วยกันสร้างเกราะป้องกัน ปกป้องดูแล พิทักษ์โลกแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ ผู้ปกครองที่เป็น “ผู้พิทักษ์ด่านแรก” ในการให้ความรัก ความอบอุ่น สร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันไม่ให้ลูกหลานถูกล่อลวงหรือชักจูงไปในทางที่ผิด หรือแม้แต่ตัวเด็กและเยาวชนเองก็สามารถเป็นผู้พิทักษ์ได้โดยต้องรู้จักสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเอง และช่วยดูแลเพื่อนๆ เพราะเด็กวัยนี้จะเชื่อและไว้ใจเพื่อนมากกว่าครูหรือผู้ปกครอง ด้านแพลตฟอร์ม ก็ต้องมีกรอบ กฎเกณฑ์ ข้อกำหนดที่ชัดเจนในการให้บริการ มีระบบตรวจสอบที่เข้มงวด และมีบทลงโทษผู้กระทำความผิดหรือละเมิดกฎเกณฑ์ชุมชนที่ชัดเจน สื่อ ก็ต้องคอยระแวดระวัง คอยเป็นหูเป็นตา คอยเตือน จุดประกาย ให้ความรู้ สร้างกระแสให้สังคมเห็นความสำคัญของปัญหาและร่วมมือกันป้องกัน ภาครัฐ ก็ต้องคอยดูแล ควบคุมและกำหนดทิศทางการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งวันนี้ ไทยเราก็มีกฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่มาเป็นกรอบในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้คนไทยใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยมากขึ้น เป็นต้น
ท้ายที่สุดแล้ว“ผู้พิทักษ์แห่งโลกดิจิทัล” อาจไม่ได้หมายถึง ใคร คนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่ง แต่ผู้พิทักษ์ที่ยิ่งใหญ่และมีพลังมากที่สุด คือ เราทุกคนที่ใช้งานแพลตฟอร์ม เพราะ “EVERYONE CAN BE A HERO”