เร่งเดินหน้าผนึก 17 องค์กรชั้นนำ เตรียมจัด “SISTAM 2024” โชว์ความล้ำสมัยเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย - บำรุงรักษาขั้นสูง ครั้งยิ่งใหญ่ของไทย
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือบริษัท เอ็กซโปซิส (Exposis) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) และสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์ แห่งประเทศไทย หรือ TIChE ร่วมด้วยพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมระดับแถวหน้าของประเทศ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมและแสดงสินค้าด้านความปลอดภัยอัจฉริยะในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีการบำรุงรักษาขั้นสูงหรือ SISTAM (Smart Industrial Safety &Technology for Advanced Maintenance) ประจำปี 2567ที่รวมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมระดับแถวหน้าของเมืองไทย พร้อมจัดแสดง นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาขั้นสูงจากบริษัทชั้นนำ รวมทั้งเปิดพื้นที่สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการในการเจรจาแลกเปลี่ยนทางการค้าและธุรกิจ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ในวันที่ 26 – 27 กันยายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า SISTAM 2024 เป็นมหกรรมทางวิชาการและแสดงสินค้าด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยในอุตสาหกรรมและการบำรุงรักษาขั้นสูงที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีกลางในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย นวัตกรรม และดิจิทัล เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและการบำรุงรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมไทย รวมทั้งเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและภาคการศึกษาได้เรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยี และโซลูชันใหม่ ๆ พร้อมตัวอย่างกรณีศึกษาที่น่าสนใจเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้ผู้ผลิตผู้จัดจำหน่าย และผู้สนใจในสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาขั้นสูงได้มีโอกาสมาพบกันเพื่อเจรจาแลกเปลี่ยนทางการค้าและธุรกิจ
ทั้งนี้งานดังกล่าวจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยจะเพิ่มความเข้มข้นทางวิชาการและนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยยิ่งกว่าเดิม ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนของการจัดแสดงเทคโนโลยี โดยมีหน่วยงานและบริษัทชั้นนำในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติ (Automation) ซอฟต์แวร์ โซลูชัน ระบบและอุปกรณ์ด้านการบำรุงรักษาและความปลอดภัยต่าง ๆ มาร่วมจัดแสดง และส่วนการจัดสัมมนาวิชาการ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับแถวหน้าของเมืองไทยที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมแบ่งปันกรณีศึกษาที่น่าสนใจต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด "3S Smart, Safe & Sustainable Technologies Toward Tomorrow” โดยมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ เช่น การใช้เทคโนโลยี IoT ในอุตสาหกรรมเพื่อการบำรุงรักษาอัจฉริยะ การใช้ Generative AI ในการพัฒนาโรงงานอัจฉริยะ การใช้หุ่นยนต์ขั้นสูงสำหรับงานบำรุงรักษาที่มีความซับซ้อน และอื่น ๆ อีกมากมาย
“ประเทศไทยเข้าสู่ยุค Digital transformation มาซักระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในระยะหลังที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งผลักดันให้การขับเคลื่อนเรื่องดิจิทัลในระบบอุตสาหกรรม ระบบการศึกษา หรือแม้แต่ภาคสังคมเชื่อมโยงถึงกันหมด Digital transformation จึงไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่เกิดขึ้นแทบจะทุกภาคส่วนทั้งในระดับประเทศและในระดับโลกการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนที่สำคัญจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุดเช่นเดียวกับความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยจัดการด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) ในระบบอุตสาหกรรม เช่น ระบบอัตโนมัติ (Automation) การใช้ IoT (Internet of Thing) หรือการเชื่อมโยงอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยี AI เพื่อมาช่วยเพิ่มความปลอดภัย ป้องกันอุบัติเหตุและการหยุดชะงักของเครื่องจักรระหว่างปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่ม productivity เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง
นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่วิศวฯ จุฬาฯ มีโอกาสได้มาร่วมส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมเห็นความสำคัญเรื่องการจัดการด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษาซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งและละเลยไม่ได้ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น แม้ค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงซ่อมแซมจะไม่มาก แต่ผลกระทบทางอ้อม ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเป็น 100 เท่า โดยเฉพาะผลกระทบต่อลูกค้าต่อสังคม ภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่น ซึ่งแม้ว่าโรงงานอุตสาหกรรมโดยทั่วไปจะมีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ที่ใช้ในการดูแลเครื่องจักร อุปกรณ์ และดูแลความปลอดภัยต่าง ๆ ภายในโรงงานอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งก็อาจเกิดเหตุขัดข้องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายหรือเกิด Human Error ทำให้เครื่องจักรต้องหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้เกิดความล่าช้าและเสียทั้งเงินและเวลาในการซ่อมบำรุงได้ การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยทุ่นแรง ปิดช่องโหว่เหล่านี้ และช่วยดูแลความปลอดภัยได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การป้องกัน เฝ้าระวัง ตรวจจับสถานการณ์อันตรายและแจ้งเตือนทันทีที่เกิดเหตุ
โดยเฉพาะปัจจุบันมี Predictive AI ที่สามารถคาดการณ์ปัญหาของอุปกรณ์ล่วงหน้าได้ก่อนเกิดเหตุจริง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการผลิตและลดโอกาสในการที่เครื่องจักรต้องหยุดทำงานกะทันหันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทำงานได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด ช่วยยกมาตรฐานความปลอดภัยขึ้นไปอีกระดับ
ซึ่งด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้ใช้งานได้ง่ายขึ้น ไม่ซับซ้อนไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากเหมือนสมัยก่อน และที่สำคัญค่าใช้จ่ายไม่ได้สูงอย่างที่คิด โรงงานขนาดเล็ก หรือ SMEs ก็สามารถใช้ได้ อยู่ที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงและรับเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้หรือเปล่า ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถจัดการเรื่องความปลอดภัยและบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสร้างประโยชน์ สร้างผลกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ” ศ. ดร.สุพจน์ กล่าว
นอกจากนี้ ศ. ดร.สุพจน์ ยังกล่าวอีกว่า ในนามตัวแทนของคณะวิศวฯ จุฬาฯ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสได้ร่วมจัดงานในครั้งนี้ เพราะคณะฯ มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ จึงมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะนำความรู้มาร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้ที่ร่วมแบ่งปันกันในงานสัมมนาทางวิชาการที่จะจัดขึ้นในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์กับองค์กรต่าง ๆ ในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมส่วนรวม สอดคล้องตามแนวคิด “MOVE” ของคณะฯ ที่ไม่เพียงมุ่งมั่นในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพผ่านระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์คนทุกรูปแบบ (M: Maximized Learning Systems) แต่ยังมุ่งสร้างสรรค์งานวิจัยและพัฒนาสู่ภาคอุตสาหกรรม (O: Outstanding Research & Innovation) สร้างคุณค่าสู่สังคม (V: Value Creation for Society) พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและสังคมไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน (E: Engaging Stakeholders) ซึ่งคณะฯ ยึดมั่นและผลักดันมาโดยตลอด
“ขอบคุณผู้จัดงานที่มองเห็นความสำคัญของภาคการศึกษา และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่มีโอกาสเข้ามามีบทบาทนำในการจัดงาน SISTAM 2024 ในครั้งนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องวิชาการทั้งหมดและขอบคุณทั้ง 17 หน่วยงานที่ร่วมเป็นคณะกรรมการและให้การสนับสนุนในการจัดงาน ไม่ว่าจะเป็น
1) กรมโรงงานอุตสาหกรรม 2) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล 3) กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 4) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 5) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 6) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 7) สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) 8) เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย 9) สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) 10) สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ 11) สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย 12) สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย 13) สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) 14) สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีไซเบอร์ 15) สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย 16) สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย และ 17) สถาบันไทย-เยอรมัน
การจัดงาน SISTAM 2024 ไม่ได้เป็นเพียงแค่งานสัมมนาทางวิชาการหรือการจัดแสดงสินค้าเท่านั้นแต่เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ช่วยยกระดับและเปิดมิติใหม่ในด้านการดูแลรักษาความปลอดภัยและการบำรุงรักษาขั้นสูง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก”
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน SISTAM 2024 ได้ที่ www. https://sistam-asia.com/