30 มี.ค. 2567 318 5

JLL ประเทศไทย เผยเทรนด์ ESG ของปี 2567 และเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของวงการอสังหาฯ

JLL ประเทศไทย เผยเทรนด์ ESG ของปี 2567 และเป้าหมายสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของวงการอสังหาฯ

เจแอลแอล ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ สรุปภาพรวมกระแสแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ของปี 2567 ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและนอกประเทศ เจแอลแอล ประเทศไทย ยึดมั่นในแนวคิด ESG พร้อมเน้นย้ำผลประโยชน์ที่เจ้าของและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์จะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จของอาคารต่าง ๆ ที่รับนำแนวคิด ESG ไปใช้

เจแอลแอลคาดกระแสแนวคิด ESG จะโตต่อเนื่องตลอดปี 2567 พร้อมชี้ว่าผู้เช่าจำนวนมากขึ้นกำลังมองหาอาคารสำนักงานที่มีความยั่งยืน ทั้งยังเน้นถึงบทบาทที่สำคัญของข้อมูลการทำงานของอาคารต่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Corporate Net Zero Goals) เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ เร่งดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เกิดการแข่งขันในกลุ่มผู้ให้บริการอาคารสำนักงานและการดำเนินงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ จากข้อมูลที่รวบรวมโดยเจแอลแอลพบว่า 96% ของผู้ใช้งานอาคารทั่วประเทศที่ได้ทำแบบสำรวจประสงค์ให้สินค้าและบริการในธุรกิจตนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบ 100% ภายในปี 2573 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 17% ในปัจจุบัน และเมื่อการรับรองอาคารสีเขียวได้กลายมาเป็นข้อกำหนดมาตรฐาน ข้อมูลการทำงานของอาคารจึงมีความสำคัญมากขึ้น เพื่อรับรองถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างแท้จริง อีกทั้งผู้เช่าในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและจัดทำข้อมูลและเอกสารด้านความยั่งยืนของตนอีกด้วย


“ในประเทศไทย เราเป็นผู้นำให้กับวงการผ่านการเป็นตัวอย่างที่ดี เราเดินหน้าศึกษาพร้อมให้ความรู้แก่พนักงานในองค์กรและลูกค้าเพื่อก้าวสู่อนาคตที่มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ด้วยความตั้งมั่นสู่โลกแห่งความยั่งยืนเราจึงมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกถึง 40% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการรับรองมาตรฐานจะมีความสำคัญ แต่เรายังคงต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง รวมถึงจำเป็นต้องกำหนดบรรทัดฐานที่มีความท้าทาย และการมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อสนับสนุนแนวคิดด้าน ESG ทั้งภายในเจแอลแอลเองและชุมชนของเรา และการร่วมมือกันเช่นนี้เองที่จะทำให้เราสามารถส่งมอบอนาคตที่สดใสให้แก่คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ ไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จํากัด (JLL) กล่าว

เจแอลแอล ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขต 1 2 และ 3 ลง 95% ภายในปี 2583 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมาตรฐาน SBTi Net-Zero การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกคนในชุมชน การลงมือแก้ไขปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ และการจัดพื้นที่ส่งเสริมสุขภาพไม่เพียงแต่จะเป็นความพยายามในการผลักดันด้านความยั่งยืนระดับโลกของเจแอลแอลเท่านั้น แต่ยังเป็นการดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคในประเทศไทยอีกด้วย โครงการต่าง ๆ เหล่านี้รวมไปถึงการย้ายที่ตั้งสำนักงานไปยัง The PARQ ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานแห่งแรกของไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน WELL มีการออกโปรเจกต์ด้านความยั่งยืนที่หลากหลาย ซึ่งมีเป้าหมายในการลดของเสีย ผลักดันการขนส่งที่มีความยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งประการหลังนี้นับว่ามีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ใช้งานอาคารกว่า 37% ในประเทศไทยที่ทำแบบสำรวจกล่าวว่า เป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนภายในปี 2573 ทำให้การใช้พลังงานหมุนเวียนในอาคารกลายมาเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ นอกจากนี้ 80% ยังคาดว่าจะเปลี่ยนรูปแบบพลังงานของตนไปเป็นแบบหมุนเวียน เพิ่มขึ้นจาก 23% ซึ่งเป็นตัวเลขปัจจุบัน 

เจแอลแอล ประเทศไทย เดินหน้าอย่างมั่นใจบนเส้นทางด้านความยั่งยืน มอบกล่องบรรจุอาหารกลางวันและแก้วกาแฟแบบใช้ซ้ำได้ให้กับพนักงาน เปิดตัวระบบการโดยสารร่วมกัน (Carpooling System) และลดการใช้รถยนต์ของบริษัทลง 40% เจแอลแอลยังเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนทางสังคมเคียงคู่ไปกับคณะกรรมการชุมชน จัดกิจกรรมที่ครอบคลุมในเรื่องของความหลากหลาย การเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม และการมีความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ในปี 2566 เจแอลแอลจัดอีเวนต์ไปมากกว่า 40 งาน และวางแผนที่จะจัดกิจกรรมดี ๆ เช่นนี้ต่อไปอีกในปี 2567 เจแอลแอล ประเทศไทย ได้ต่อยอดความสำเร็จ พร้อมเปิดตัวกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนใหม่ ๆ ตลอดปี ซึ่งรวมไปถึงการนำรถยนต์ไฮบริดมาใช้เพื่อลดการปล่อยมลพิษลงประมาณ 20% การเปิดตัวโครงการ "Zero Waste to Landfill" และการให้บริการบาริสต้าเพื่อลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวของพนักงานเจแอลแอลและลูกค้าในแต่ละวัน

“การเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนถือเป็นก้าวสำคัญในการกำหนดนิยามใหม่สำหรับอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และพลิกโฉมอาคารจากการบริโภคพลังงานแบบเชิงรับไปสู่การมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานหมุนเวียนในพื้นที่” อนาวิล เจียมประเสริฐ หัวหน้าแผนกบริการงานวิจัยและให้คำปรึกษาของโจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จำกัด (JLL)

เจแอลแอลย้ำถึงข้อได้เปรียบสำคัญในการผสานรวมหลักการ ESG เข้ากับการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์และกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งประกอบไปด้วยการดึงดูดลูกค้าและรักษาความสัมพันธ์กับผู้เช่าด้วยเป้าหมาย ESG ผลต่างระหว่างผลตอบแทน (Green Premium) จากค่าเช่าและมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้ การลดความเสี่ยง และการทำให้สินทรัพย์ก้าวทันตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว ภูมิภาคเอเชียให้ความสำคัญกับแนวคิด ESG อย่างชัดเจน  โดยความมุ่งมั่นด้านความยั่งยืนส่งผลต่อการตัดสินใจต่อสัญญาเช่าเป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้น ยังคาดว่าความต้องการพื้นที่ปล่อยคาร์บอนต่ำยังมีส่วนในการพิจารณาต่ออายุสัญญาเช่ากว่า 70% ภายในปี 2571 ซึ่งชี้ถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของ ESG ในการตัดสินใจด้านอสังหาริมทรัพย์ และถึงแม้ว่าดีเวลลอปเปอร์จะมุ่งเน้นที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการสร้างอาคาร แต่ผลกระทบจากการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ มักถูกมองข้ามไป ในปัจจุบันนี้ ผู้ใช้อาคารกว่า 70% ในประเทศไทยที่ทำแบบสำรวจระบุว่า การลงทุนในการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในสำนักงานของตนนั้นยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยด้านความยั่งยืนที่ท้าทายที่สุด


“การรวมแนวคิด ESG เข้ากับการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการทำสิ่งดี ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นการตัดสินใจที่ดีด้วย เนื่องจากผลประโยชน์ทางการเงินนั้นมีความชัดเจน โดยผู้ประกอบการจะสามารถประหยัดต้นทุนได้มากถึง 6% ของรายได้ต่อปีผ่านการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและการลดของเสีย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเรามองไปถึงปี 2571 ความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนของบริษัทจะมีผลต่อการตัดสินใจต่ออายุสัญญาเช่าอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถือเป็นสัญญาณสำคัญที่จะทำให้เจ้าของและนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์หันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่เพื่อโลกของเราเท่านั้น แต่เพื่อผลกำไรของพวกเขาเองด้วยเช่นกัน” ณัฐภูมิ วิทวัสชุติกุล หัวหน้าแผนกบริการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประจำประเทศไทย บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จํากัด (JLL) กล่าว


เจแอลแอล ให้บริการดูแลทรัพย์สินของลูกค้าหลายรายที่สามารถบูรณาการแนวคิด ESG ได้สำเร็จ รวมไปถึงสำนักงานของเจแอลแอลเอง ซึ่งได้รับการออกแบบและจัดการตามมาตรฐาน LEED และ WELL กรณีศึกษาอื่นๆ จากลูกค้าของเจแอลแอล ประเทศไทย ที่เป็นแบบอย่างความสำเร็จด้าน ESG ได้แก่ One Bangkok, Park Silom, Park Ventures และ Sathorn Square อาคารต่าง ๆ เหล่านี้นับเป็นตัวอย่างด้านความยั่งยืน โดยได้รับการรับรองอย่าง LEED และ WELL ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความมุ่งมั่นด้านสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกแบบที่ยั่งยืน กรณีศึกษาเช่นว่าแสดงให้เห็นถึงผลกระทบเชิงบวกของ ESG ต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความพึงพอใจของผู้เช่า และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ในขณะที่การแข่งขันด้านความยั่งยืนของอาคารเป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้น เจแอลแอลยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ต่อแนวคิด ESG และภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดีในวงการอสังหาริมทรัพย์ แต่การเดินทางครั้งนี้ไม่เพียงแต่สำหรับ JLL เท่านั้นที่จะดำเนินการตามลำพังเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญคือการร่วมมือกับลูกค้า หุ้นส่วนทางธุรกิจ และชุมชนต่าง ๆ เพื่อพลิกโฉมบริการอสังหาริมทรัพย์และกำหนดทิศทางอนาคตให้กับวงการนี้เพื่อโลกที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากการเป็นตัวอย่างที่ดีในด้าน ESG แล้ว โครงการและแผนงานต่าง ๆ ในอนาคตของเจแอลแอลยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของบริษัทที่มีต่อความยั่งยืน โดยเน้นย้ำบทบาทของอสังหาริมทรัพย์ในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้โลกมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: jll.co.th