18 เม.ย. 2567 272 0

Open Banking ช่วยสร้างคุณค่าบริการทางการเงิน ทิศทางธุรกิจของภาคธนาคารและสถาบันการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Open Banking ช่วยสร้างคุณค่าบริการทางการเงิน ทิศทางธุรกิจของภาคธนาคารและสถาบันการเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Open Banking นำมาซึ่งโอกาสในการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่และช่องทางขยายตลาดสู่ระดับภูมิภาค การนำเอาเทคโนโลยีที่ทั้งทันสมัยและครบวงจรมาใช้ และร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่ง เป็นสูตรสำเร็จที่เพิ่มการเติบโตให้กับองค์กร ทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้งานและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น

จากเอกสารไวท์เปเปอร์ “รายงานสถานการณ์จากระบบ Open Banking ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The State of Open Banking in Southeast Asia) ซึ่งจัดทำร่วมกันโดย Appsynth และ Brankas มีใจความสำคัญว่า Open Banking เป็นเทคโนโลยีที่จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรม และทางเลือกของผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันยังช่วยส่งเสริมให้ผู้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ Open Banking เป็นกลไกที่ทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลทางการเงินระหว่างสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการบุคคลที่สาม (third-party) ผ่าน API (Application Programming Interface) ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างธนาคาร และผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เช่น บริษัทสตาร์ทอัพฟินเทค บริษัทโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ปูทางไปสู่โมเดลธุรกิจและแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ได้ การที่ธนาคารสามารถนำข้อมูล (ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลแล้ว) ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้นั้นจะทำให้สามารถยกระดับบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนและโซลูชันการชำระเงิน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะสามารถฝังบริการทางการเงินไว้ในแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของธนาคารกระจายสู่ผู้ใช้งานจำนวนมากขึ้นได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านโซลุชันรูปแบบใหม่ เช่น การให้เครดิตสกอริ่งในการขอสินเชื่อ

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้กรอบการทำงานของ Open Banking จะนำไปสู่บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือช่วยบริหารการเงินส่วนบุคคล Open API สำหรับนักพัฒนาระบบ และบริการเสริมอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มากขึ้น เช่น การชำระเงินในแอป บัญชีออมทรัพย์รายย่อย (microsavings) บริการโอนเงิน บริการเครดิตสกอริ่ง (คะแนนเครดิต) และประกันสำหรับรายย่อย (microinsurance) และยังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการทางการเงิน ซึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่ากว่า 70% เข้าถึงบริการทางการเงินได้เพียงผิวเผิน (underbanked) หรือ ยังไม่ได้เลย (unbanked) โดย Open Banking จะช่วยทลายกำแพงดังกล่าวผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานได้ง่าย และ มีบริการทางการเงินขั้นพื้นฐานให้บริการในราคาที่ย่อมเยา ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในกลุ่มนี้อย่างแท้จริง

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่6 ของโลก มีประชากรกว่า 500 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมมากกว่า 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ Appsynth ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค และ Brankas ผู้ให้บริการเทคโนโลยีการเงินแบบเปิด (Open Finance) ชั้นนำของภูมิภาค พบว่าสถาบันการเงินในภูมิภาคนี้มีการยอมรับและเห็นถึงข้อดีของ Open Banking  ที่จะช่วยยกระดับบริการให้ทัดเทียมกับฟินเทคสตาร์อัพใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก

หลายๆ องค์กรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ด้วยหลักการ Open Banking ออกสู่มือผู้บริโภคแล้ว ซึ่งหากมองในภาพกว้างยังถือเป็นเพียงระยะเริ่มต้นเท่านั้น เวลานี้จึงเหมาะสมเป็นอย่างมากที่ผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบเดิมในตลาด จะเข้ามาช่วงชิงโอกาสในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ให้ทัดเทียมกับฟินเทคใหม่ ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้บริโภคในปัจจุบันคาดหวัง


Appsynth และ Brankas พร้อมผลักดันให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ผ่าน Open Banking ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคนี้ค้นพบโอกาสทางธุรกิจและพัฒนาเป็นโซลูชันที่มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคในแถบนี้

“Open Banking จะช่วยยกระดับบริการในภาคการเงินและการธนาคารของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปอีกขั้น” ซาร่าห์ ฮวง ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ของบริษัท บรังคัส จำกัด กล่าว “การนำหลักการของ Open Banking มาผนวกเข้ากับพันธมิตรฟินเทค จะช่วยให้บริการทางการเงินเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น และในขณะเดียวกันช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ”

ปัจจุบัน Brankas มีพันธมิตรระดับองค์กรมากกว่า 100 รายเพื่อเชื่อมต่อกับธนาคารและฟินเทคชั้นนำ ในขณะที่ Appsynth มีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัลแก่องค์กรชั้นนำในไทย เช่น เซเว่น อีเลฟเว่นไลน์แมน และทรูไอดี และสถาบันการเงินอย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ หลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย และ ทีเอ็มบีธนชาต

บ๊อบ แกลลาเกอร์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊พซินท์ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า “สถาบันการเงินจะยังคงเป็นสถาบันหลักที่พัฒนาบริการทางการเงิน แต่การจะผลักดันบริการเหล่านี้สู่มือผู้ใช้งานวงกว้างจะต้องอาศัยแพลตฟอร์มผู้บริโภค (consumer platform) เป็นตัวช่วย ดังนั้น การเปิดรับโมเดลใหม่ ๆ ของสถาบันการเงินจะมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่จะพัฒนาออกมาในอนาคต”

พบกับ Brankas และ Appsynth ได้ที่งาน Money 20/20 Asia ระหว่างวันที่ 23 ถึง 25 เมษายน 2567 บูธ 4013 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์นอกจากนี้แล้วทางบริษัท ยังร่วมเป็นเจ้าภาพงาน Asean Happy Hour: Bangkok After Dark งานพบปะสำหรับผู้บริหารในแวดวงการเงินและการธนาคาร ในวันที่ 24 เมษายน 2567