(27 เมษายน 2567) ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ ได้เผยแพร่และแจ้งเตือน “วิกฤตโลกอากาศสุดขั้วไทยร้อนต่อถึง เดือนกันยายน” นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาขอชี้แจงว่า
*ฤดูร้อนของประเทศไทย โดยปกติจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ของทุกปี รวมระยะเวลาราว 2 เดือนครึ่ง โดยในช่วงนี้เป็นช่วงที่โลกเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และดวงอาทิตย์จะทำมุมตั้งฉากกับเขตโซนร้อนพอดี (เนื่องจากประเทศเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมาก)
โดยเฉพาะเดือนเมษายน บริเวณประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะอยู่เกือบตรงศีรษะในเวลาเที่ยงวัน ทำให้ได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์เต็มที่ ในช่วงฤดูร้อน ทิศทางลมมีความแปรปรวน บางวันลมมีกำลังอ่อน ประกอบกับมักมีหย่อมความกดอากศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมอยู่เป็นประจำ จึงทำให้อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว โดยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิบางวันสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
แต่พอเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่มีความชื้นพัดปกคลุมประเทศไทย ลมนี้ยังช่วยระบายอากาศร้อน และทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของอากาศคลายความร้อนลงได้
ดังนั้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงปลายของฤดูฝน โดยปกติจะมีฝนตกชุกเกือบทุกภาคของประเทศไทย อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศจะไม่สูงนัก เนื่องจากมีฝนตก ความชื้นสูง มรสุมมีกำลังแรง สถานการณ์ความร้อนจะคลื่คลายลง จึงไม่เกิดวิกฤตโลกอากาศสุดขั้วไทยร้อนถึงกันยายน
หากมีสภาพอากาศที่คาดว่าจะมีความรุนแรงและมีผลกระทบ กรมอุตุนิยมวิทยา จะออกประกาศให้ทราบทันที และขอให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศเป็นระยะๆ
กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
27 เมษายน 2567