กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) พร้อมด้วยกรมการปกครอง ได้ระดมหน่วยงานภาครัฐกับการประชุมเชิงนโยบายแลกเปลี่ยนความเห็น เรื่อง “การยืนยันตัวตนทางดิจิทัลด้วย Digital ID ในการเข้าใช้บริการ e-Service ของภาครัฐ” เผยเตรียมเร่งเครื่องผนวกการใช้ Digital ID กับการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) โดยมุ่งเน้นครอบคลุมบริการสำคัญๆ พร้อมต่อยอดการใช้งาน Digital ID เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในกลุ่ม ‘คนต่างด้าว - นิติบุคคล’ เพิ่มเติม
ศาตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า หนึ่งภารกิจสำคัญที่ กระทรวงดิจิทัลฯ ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้น คือ การเปลี่ยนผ่านการให้บริการภาครัฐ โดยเฉพาะบริการสำคัญๆ ให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service เพื่อให้การทำธุรกรรมทางออนไลน์ การติดต่อราชการของประชาชน มีความสะดวกสบาย รวดเร็วและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เราพบว่า มีภาครัฐหลายหน่วยงานต่างตื่นตัวและให้ความสำคัญในการพัฒนาปรับปรุงบริการของตนเองมาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้นต่อเนื่อง โดยประเด็นที่เราต้องเร่งส่งเสริมและต้องขับเคลื่อนไปต่อ คือ “การผนวกการให้บริการของภาครัฐ กับ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID)” เพื่อให้คนไทยเข้าถึงบริการ e-Service ของภาครัฐ ได้อย่างมั่นใจและน่าเชื่อถือด้วย Digital ID ของตนเองได้อย่างทั่วถึง ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Digital ID ที่มาจากหน่วยงานภาครัฐหลายเจ้า หนึ่งในนั้นคือ กรมการปกครอง ผ่านบริการที่ชื่อว่า ThaID (ไทย-ดี) ที่วันนี้มีคนไทยลงทะเบียนใช้งานแล้วกว่า 13 ล้านบัญชี ภายใต้การให้บริการที่สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายที่เกี่ยวข้องคู่ขนานกับการส่งเสริมและการสนับสนุนบริการโดย ETDA ตลอดจนหน่วยงานอื่นๆ ที่ร่วมกันดำเนินงาน
“ซึ่งหากบริการภาครัฐนำ Digital ID ไปใช้งาน จะก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ประโยชน์ต่อประเทศ คือ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล 2. ประโยชน์ต่อหน่วยงานราชการช่วยให้การทำงานคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงข้อมูลด้านเอกสารและลดขั้นตอนการทำงานในรูปแบบกระดาษ อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายและเวลาที่แต่ละหน่วยงานจะต้องพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนด้วยตนเอง และ 3. ประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับบริการที่สามารถเข้าถึงและรับบริการจากภาครัฐได้รวดเร็วขึ้น ลดขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารในรูปแบบกระดาษ ที่อาจเกิดความเสี่ยงด้านข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจรั่วไหลได้”
ศาตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อนาคตของ Digital ID จะไม่ได้มีเพียงแค่การพิสูจน์และยืนยันตัวตนว่าเราเป็นใครเท่านั้น แต่จะผูกโยงไปถึงคุณสมบัติของบุคคลนั้นว่ามีคุณสมบัติอย่างไร โดยข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลที่มีอยู่ในหน่วยงานต่างๆ จะเชื่อมโยงกันผ่านระบบคลาวด์กลางของภาครัฐ ภายใต้โครงการ Government Data Center and Cloud Service หรือ GDCC ที่ตอนนี้คณะทำงานของกระทรวงฯ และหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันทำงานเพื่อให้เกิด Big Data และสามารถบูรณาการข้อมูลข้ามหน่วยงานกันได้อย่างเป็นระบบ เพื่อนำสู่การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการดิจิทัลสำหรับประชาชนและเป็นข้อมูลสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกมิติ
ด้าน จิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวเสริมว่า ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID นั้นเข้ามาช่วยส่งเสริมให้บริการออนไลน์ของทุกภาคส่วนเกิดระบบนิเวศการใช้งานที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ซึ่ง ETDA มองว่าในอนาคตการใช้งาน Digital ID เพื่อเข้าสู่บริการ e-Service ของภาครัฐจะแพร่หลายมากขึ้นแน่นอน เนื่องจากความสะดวกในการใช้งานที่ไม่จำเป็นต้องยืนยันตัวตนซ้ำซ้อนในหลายระบบ ภายใต้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ ภายใต้การกำกับและดูแลของ ETDA ในฐานะ Regulator หรือหน่วยงานที่ควบคุมดูแลธุรกิจบริการ Digital ID ซึ่งครอบคลุมทั้งการส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบการให้บริการให้มีความสอดคล้องตามมาตรฐานสากล มีความมั่นคงปลอดภัย มีการบริหารจัดการความเสี่ยงของระบบ รวมถึงตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่และมาตรฐานในการดูแลผู้ใช้บริการ
“ปัจจุบันการให้บริการของภาครัฐมีจำนวนทั้งหมด 3,830 บริการ คาดการณ์ว่าสามารถพัฒนาให้เป็น e-Service ได้ถึง 2,376 บริการ โดยมีบริการที่พัฒนาแล้ว 1,626 บริการ จาก 115 หน่วยงาน และยังมีอีก 750 บริการ จาก 75 หน่วยงานที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็น e-Service โดยเป้าหมายการผลักดันให้เกิดการใช้ Digital ID เพื่อเข้าถึงบริการ e-Service ของภาครัฐ โดยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายให้ 50% ของ e-Service ของภาครัฐต้องมีการเชื่อมโยงระบบกับบริการ Digital ID ภายในปี 2567 และใช้งานทั้งหมด 100% ในปี 2568 โดย ETDA มีหน้าที่ผลักดัน ประสาน และให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ Digital ID ในทุกภาคส่วน”
จิตสถา กล่าวต่อว่า กลไกขับเคลื่อนการใช้ Digital ID ในบริการ e-service ของภาครัฐของ ETDA จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ การเตรียมความพร้อมโดยหน่วยงานภาครัฐเอง โดย ETDA จะช่วยประเมินความพร้อมของหน่วยงาน พร้อมจัดตั้งทีม ETDA Digital Clinic เป็นการชั่วคราว สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีบริการ e-Service และต้องการใช้งาน Digital ID เพื่อให้เขาได้เข้ามาขอคำปรึกษา รวมถึงเตรียมจัด Workshop เพื่อให้ความรู้ ไปจนถึงการประสานงานให้ความช่วยเหลือหน่วยงานภาครัฐ ส่วนที่สอง คือ การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ซึ่ง ETDA ได้มีกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทยระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 – พ.ศ. 2567) โดยหนึ่งในกลยุทธ์หลักคือ การขับเคลื่อนให้เกิดการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลครอบคลุมทั้ง กลุ่มบุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อให้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนช่วยให้การดำเนินธุรกรรมต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอนความซับซ้อนในการยืนยันตัวตน อีกทั้งยังลดโอกาสความผิดพลาดด้านเอกสาร และป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล ETDA จึงได้ร่วมกับ กรมการกงสุล กรมการปกครอง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนให้สัมฤทธิ์ผล และในปี 2567 นี้ ETDA ยังเตรียมออกกรอบการขับเคลื่อนฯ ฉบับที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน (Use case) มากขึ้น โดยมีกลไกเพื่อผลักดันการดำเนินงานที่สำคัญ ที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐเกิดการใช้งาน Digital ID ให้มากที่สุด เพื่อการให้บริการ e-Service ของภาครัฐสามารถก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ