ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี ที่มี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี เป็นรองประธานกรรมการ เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดีอี เป็นเลขานุการคณะกรรมการฯ และผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาหารือร่วมกัน เพื่อดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี
สำหรับ ผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 30 วัน มีดังนี้
1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์
สตช. ได้เร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ในช่วง 1 - 30 เมษายน 2567 เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา ดังนี้
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบจำนวนการรับแจ้งความคดีอาชญากรรม พบว่าในเดือน มีนาคม 2567 มีการแจ้งความเฉลี่ยวันละ 855 คน เปรียบเทียบกับในเดือน เมษายน 2567 เฉลี่ยวันละ 992 คน
ด้านมูลค่าความเสียหายของคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท พบว่ามีมูลค่าความเสียหายลดลงคือ ในเดือน มีนาคม 2567 มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 149 ล้านบาท/วัน โดยในเดือน เมษายน 2567 มีมูลค่าความเสียหายเฉลี่ย 110 ล้านบาท/วัน
สำหรับการจับกุมครั้งสำคัญ ในห้วงเดือนเมษายน 2567 ได้แก่ 1) ปฏิบัติการ “OPERATION CYBER STRIKE” ทลาย 9 เครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ “huayland.net” พบยอดเงินหมุนเวียนกว่า 5,000 ล้านบาท จับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องในเครือข่าย รวม 29 ราย 2) จับกุมขบวนการหลอกลงทุนคริปโตเคอร์เรนซีเชื่อมโยงเว็บพนันออนไลน์ ฟอกเงินและแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 23 คน ยึดทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 125 ล้านบาท และ 3) การบุกทลายบริษัทบัญชีม้า โดยแปลงรูปแบบการใช้บัญชีธนาคารในชื่อนิติบุคคลทั้งบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัด พบมีผู้เสียหายจำนวนทั้งสิ้น 153 ราย (เคสไอดี) รวมมูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาท สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 12 ราย เป็นต้น
นอกจากนี้ DSI เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 ได้ดำเนินการทลายเว็บพนันออนไลน์รายใหญ่ พบบัญชีผู้เล่นมากกว่า 100,000 คน เงินทุนหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านบาท
2. การปิดกั้นเว็บไซต์ ผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์
ดีอี และ สตช. ได้เร่งรัดปิดกั้นเว็บไซต์ผิด กฎหมาย ในช่วงเวลา 1 - 30 เมษายน 2567 เทียบกับ
การดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา สรุปผลได้ดังนี้
นอกจากนี้ ดีอี ได้ประสานงานกับ google facebook tiktok X line เพื่อช่วยปิดกั้นการใช้โซเชียล ที่ผิดกฎหมาย
3. การแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัดและตัดตอนการโอนเงิน
3.1 การเร่งรัดกวาดล้างบัญชีที่ต้องสงสัยและบัญชีม้าในระบบธนาคาร โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน เร่งทำการตรวจสอบ เหตุต้องสงสัยทั้ง 19 ข้อ และทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีต้องสงสัยระหว่างธนาคาร เพื่อระบุและทำการระงับบัญชีธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมามีการระงับไปแล้ว จำนวนกว่า 3 แสนบัญชี
3.2 ศูนย์ AOC 1441 ได้ระงับหรือปิดบัญชีไปแล้ว จำนวน 112,699 บัญชี และ สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการปิดบัญชีม้าไปแล้ว จำนวน 318,298 บัญชี
3.3 กำหนดมาตรการและเงื่อนไขการเปิดบัญชีใหม่ เพื่อป้องกันการนำไปกระทำความผิดโดยเพิ่มกระบวนการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง Customer Due Diligence หรือ CDD โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงธนาคารต้องตรวจสอบให้เคร่งครัดมากขึ้นก่อนอนุมัติเปิดบัญชี โดยจะเริ่มภายในเดือน พฤษภาคม 2567
ซึ่งปัจจุบันบางธนาคารได้มีการดำเนินการแล้ว
3.4 การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
4. การแก้ไขปัญหาซิมม้าและการใช้ซิมอย่างผิดกฎหมาย
4.1 การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 มีผู้มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 2.58 ล้านหมายเลข และยังไม่มายืนยันตัวตน อีกจำนวน 2.5 ล้านหมายเลข ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการระงับ 2.5 ล้านหมายเลขที่ไม่ได้มายืนยันตัวตน
4.2 ผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Operator) ดำเนินการระงับเลขหมายที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้ง ต่อวัน โดยระงับไปแล้วกว่า 36,641 หมายเลข
4.3 ในส่วนของ สตช. และ ดีอี ได้ประสานเพื่อระงับ ซิมม้า หรือซิมต้องสงสัยไปแล้วกว่า 800,000 หมายเลข
4.4 การเข้มงวดในการเปิดใช้ ซิมใหม่ ให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกัน การนำซิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา พบการปล่อยปละละเลยการเปิดใช้ซิมใหม่ จำนวนมากๆ ตลอดจนมีการสวมรอยใช้พาสปอร์ทชาวต่างชาติ หรือขโมยบัตรประชาชนคนไทย มาเปิดซิมจำนวนมาก
4.5 การจัดทำฐานข้อมูลการส่ง SMS (Sender Name) โดยเฉพาะที่มีการส่งจำนวนมากๆ สำหรับการตรวจสอบเฝ้าระวังการส่ง SMS หลอกลวง โดย สำนักงาน กสทช. ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ
5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
5.1 สำนักงาน กสทช. ร่วมกับกระทรวงกลาโหม และ สตช. เร่งดำเนินการกวาดล้างและจับกุมผู้กระทำความผิดในการใช้เสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ตและสายโทรศัพท์ ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยเสาสัญญาณเถื่อนที่มีการกระจายสัญญาณ หรือมีการลากสายอินเทอร์เน็ตข้ามแดน มีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้ 1) พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 จะเป็นเรื่องการมีใช้หรือตั้งสถานีที่ไม่ได้รับอนุญาต และ 2) พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้กำหนดโทษผู้ที่ลักลอบประกอบกิจการในการตั้งสถานีบริเวณชายแดน
5.2 ปฏิบัติการตัดวงจรซิม-สาย-เสา สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยจับกุมครั้งสำคัญ ในห้วงเดือนเมษายน 2567 เช่น เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ดำเนินการจับกุมการลักลอบเดินสายอินเทอร์เน็ตผ่านชายแดนไปประเทศกัมพูชา ในพื้นที่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นต้น
6. การร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยปราบปรามจับกุมช่างต่างชาติที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย
กระทรวงมหาดไทยร่วมกับ สตช. ดีอี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง สนับสนุนการจับกุม ปราบปราม ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการชักชวน หลอกลวงคนไทยเพื่อพาไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับจังหวัดที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน
7. การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามจับกุม
กระทรวงการต่างประเทศให้การสนับสนุนการประสานงานในการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ในประเด็นการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เว็บพนันออนไลน์ รวมถึงประเด็นปัญหาอาชญกรรมออนไลน์อื่นๆ และ สตช. โดยเฉพาะ ตม. เคร่งครัดการตรวจสอบบุคคลเข้า-ออก และการเข้า-ออกผ่านช่องทางธรรมชาติ เพื่อลดปัญหาการเดินทางไปทำงานเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการขนเงินออกนอกประเทศ
8. การกำกับดูแลแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ผิดกฎหมาย
8.1 สำนักงาน ก.ล.ต. ส่งข้อมูลผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการปิดกั้นช่องทางการเข้าถึงแพลตฟอร์มของผู้ให้บริการดังกล่าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเป็นการป้องกันมิให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางในการนำทรัพย์สินจากการกระทำผิดไปฟอกเงิน อันเป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์
8.2 ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ให้บริการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตและชักชวนให้มีการใช้บริการในประเทศไทย โดยกล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ตามบทบาทหน้าที่ รวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์จากต่างประเทศ เช่น กรณี Binance และ กรณีบริษัท Bybit Fintech Limited (Bybit)
8.3 ให้บริการประชาชนและผู้ลงทุนมารถตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่มิใช่ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. การใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวง (scam) รวมถึงความเสี่ยงด้านการฟอกเงินผ่านแอปพลิเคชัน “SEC Check First”
9. การบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ให้ศูนย์ AOC 1441 เป็น Platform รับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน ปปง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยทำงานแบบอัตโนมัติ(Automation) และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence)
ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไป โดยจะมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้นเดือนพฤษภาคม 2567
10. มาตรการด้านกฎหมายและงานสำคัญอื่น
10.1 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เร่งจัดทำ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา
เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์โดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. ... เพื่อแก้ปัญหา บริการเก็บเงินปลายทางสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Cash on Delivery) ช่วยขจัดปัญหาการหลอกซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า ประกาศดังกล่าว จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งประเมินว่า มาตรการนี้ จะช่วยลดจำนวนคดีหลอกลวงซื้อขายออนไลน์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
10.2 สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพย์สินดิจิทัลผิด กฎหมาย โดยเฉพาะการใช้ส่งเงินของคนร้าย
10.3 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล
10.4 สำนักงาน ปปง. สตช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการคืนเงินจากบัญชีม้าที่อายัดได้ให้แก่ผู้เสียหาย
แนวทาง/มาตรการสำคัญในระยะต่อไป
1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ
2. การป้องกันการเปิดบัญชีม้า ซิมม้า และกวาดล้างจับกุมผู้เกี่ยวข้อง
3. การแก้ปัญหาหลอกลวงซื้อขายสินค้าบริการออนไลน์ โดยเฉพาะกรณี COD
4. การเร่งรัดคืนเงินและเยียวยาให้ผู้เสียหาย
5. การเพิ่มความรับผิดชอบของผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และผู้ให้ทางการเงิน ต่อปัญหาอาชญากรรมออนไลน์
6. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างภูมคุ้มกับอาชญากรรมออนไลน์ แบบเจาะจงเรื่องการหลอกลงทุน การหลอกหารายได้ และหลอกแก๊งคอลเซนเตอร์
7. การเร่งรัดการแก้กฎหมาย
“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันในระยะเวลา 30 วันที่ผ่านมา เพื่อเร่งปราบปรามปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฏเป็นผลงานที่เด่นชัด โดยจะมีการรายงานผลการดำเนินการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
โดยแม้ตัวเลขความเสียหายจะมีมูลค่าลดลง แต่จำนวนผู้ได้รับความเสียหายยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นต่อจากนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังคงดำเนินการปราบปรามปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างต่อเนื่องตามแนวทางและมาตรการที่ได้กำหนดเอาไว้ร่วมกัน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป” ประเสริฐ กล่าว