23 พ.ค. 2567 521 0

ผลสำรวจปี 2567 ชี้ชัด 'ปัญหาสิ่งแวดล้อม-มลภาวะ' ครองแชมป์ความกังวลสูงสุดของคนไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากถึง 74%

ผลสำรวจปี 2567 ชี้ชัด 'ปัญหาสิ่งแวดล้อม-มลภาวะ' ครองแชมป์ความกังวลสูงสุดของคนไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากถึง 74%

ผลสำรวจจากมาร์เก็ตบัซซ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยให้เห็นว่า ‘สิ่งแวดล้อม-มลภาวะ’ ยังคงเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของประชาชน โดยครองแชมป์ปัญหาที่คนไทยกังวลมากที่สุดในปี 2567


การสำรวจนี้จัดทำต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2562 โดยสอบถามประชาชนไทยเกี่ยวกับ "5 อันดับแรกของความกังวลต่อสาธารณะ" โดยผลการสำรวจล่าสุดในปี 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,000 คน ในเดือนเมษายน 2567 พบว่า สิ่งแวดล้อมยังคงติดอันดับสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้ตอบแบบสอบถาม รองลงมาคือเรื่องของค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งทั้งสองหัวข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดจากการสำรวจในปี 2566 เช่นกัน โดยการสำรวจนี้อยู่ในบริบทที่เกี่ยวกับความกังวลหลักๆ ของประชาชนที่มีต่อประเทศ ซึ่งรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นของหน่วยงานรัฐ, งานสาธารณสุข, การจราจร, อาชญากรรมและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

จากผลสำรวจปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าความกังวลของคนไทยด้านสิ่งแวดล้อมยังทวีความรุนแรงขึ้น สูงถึงร้อยละ 74 และรู้สึกว่า สิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62 ในปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนร้อยละ 37 ยังมีความกังวลอีกว่า สภาพแวดล้อมจะเลวร้ายลงไปอีกในอีก 5 ปีข้างหน้า

แม้จะมีความกังวล แต่กลับพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ขณะที่พฤติกรรมที่ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พบมากที่สุด คือ ไม่สนับสนุนการซื้อขาย/บริโภคสินค้าของป่า ของลักลอบหรือผิดกฎหมาย (ร้อยละ 37) รองลงมาคือ การลดการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ร้อยละ 34) และการใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (ร้อยละ 33) ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีช่องว่างให้รณรงค์และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป

มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาร์เก็ตบัซซ กล่าวว่า ในบรรดาความกังวลของประชาชนนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และค่าครองชีพที่สูงขึ้นยังคงเป็นความกังวลหลักของประเทศไทย แม้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะครองอันดับหนึ่ง แต่การเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันกลับเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น 


ผลการสำรวจยังเผยว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจ โดยจะเห็นว่ามีบริษัทหรือองค์กรที่ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากขึ้น โดยในปีนี้ มีถึง 4 บริษัทที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในระดับเกินกว่า 40% ได้แก่ ทรู, ปตท, ซัมซุง และเอไอเอส

มร.แกรนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนคาดหวังให้รัฐบาลมีบทบาทสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนเองก็มีความรับผิดชอบร่วมด้วยเช่นกัน โดยคาดหวังให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ชัดเจนคือ คนไทยต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น"

ผลการสำรวจยังระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาวะโลกร้อน (ร้อยละ 30) มลภาวะทางอากาศ (ร้อยละ 27) และการเปลี่ยนแปลงของอากาศ/อุณหภูมิ (ร้อยละ 22) สำหรับสาเหตุของปัญหามลภาวะทางอากาศ คนไทยมีความเห็นที่หลากหลาย โดยสาเหตุ 5 อันดับแรก ได้แก่ ควันจากท่อไอเสียในการใช้รถยนต์ (ร้อยละ 30) การเผาขยะหรือผลิตผลทางการเกษตร (ร้อยละ 26) การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมหรือพลาสติก (ร้อยละ 23)  สารเคมีที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงฝุ่น ควันต่างๆ (ร้อยละ 22) และการเผาไหม้เชื้อเพลิง จากถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 21)


ผศ.ดร.ประภาภรณ์ ติวยานนท์ มงคลวนิช คณบดีวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยตระหนักถึงภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมลภาวะต่อชีวิตที่พวกเรากำลังเผชิญมากขึ้น แม้ว่าต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ อีกมากมายก็ตาม งานวิจัยส่วนใหญ่ของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจ ความท้าทายต่างๆ ผ่านสาขาวิชาที่หลากหลายและมุ่งเน้นให้ความรู้และปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนให้กับนักศึกษา ซึ่งจะเป็นผู้นำในอนาคตของประเทศไทย ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการรณรงค์และผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน” 

ผศ.ดร.ประภาภรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า แม้จะมีความตระหนักสูง แต่ยังคงมีช่องว่างระหว่างความตระหนักกับการลงมือปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องแก้ไข เราควรพิจารณาแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อส่งเสริมให้บุคคลและองค์กรต่างๆ เลือกทางเลือกที่ยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับนโยบายของภาครัฐ ดังนั้น ไม่สายเกินไปที่เราจะมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนได้ เราทุกคนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ต่างฝ่ายควรทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมให้ติดต่อ มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ที่อีเมล์ (grant@buzzebees.com) หรือ มร.นีล เกนส์ คณะวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่อีเมล์ (neil@sgs.tu.ac.th)