29 พ.ค. 2567 461 0

ครบรอบวันสถาปนา 3 ปี สกมช. ร่วมขับเคลื่อนแผน - ยกระดับบุคลากร ผลักดันปลอดภัยไซเบอร์ของไทย

ครบรอบวันสถาปนา 3 ปี สกมช. ร่วมขับเคลื่อนแผน - ยกระดับบุคลากร ผลักดันปลอดภัยไซเบอร์ของไทย

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ฉลองความสำเร็จในโอกาสครบรอบ 3 ปี โดยได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและผลงานที่โด่ดเด่นในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย พร้อมทั้งแผนการอนาคตที่ท้าทายมากขึ้น


ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สกมช. ได้ทำงานอย่างมุ่งมั่นและตั้งใจในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เข้มแข็งและปลอดภัย โดยมีผลงานสำคัญที่น่าภูมิใจได้แก่ 

1. การขับเคลื่อนนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565 - 2570) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ (บุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี) การบูรณาการความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือทางไซเบอร์ รวมถึงสร้างบริการภาครัฐ และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัย

2. การจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 จำนวนทั้งสิ้น 41 ฉบับ เพื่อส่งเสริมมาตรการการป้องกันและจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การจัดตั้ง Thailand Computer Emergency Response Team – ThaiCERT ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยง ติดตาม วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งช่วยให้ประเทศไทยสามารถตอบสนองและจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมีสถิติการปฏิบัติในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ในห้วงวันที่ 1 ต.ค. 64 - 28 พ.ค. 67 รวมทั้งสิ้น 3,610 เหตุการณ์

4. การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ และหน่วยงานภายในประเทศ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ผ่านการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) จำนวน 25 ฉบับ 

5. การพัฒนาบุคลากรทางด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ผ่านโครงการฝึกอบรมและการศึกษาเชิงลึก อาทิ โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 1 มีผู้เข้าอบรมจำนวน 4,169 คน สอบผ่านได้รับประกาศนียบัตรสากลในโครงการ ดังนี้1) EC-Council: ECSS จำนวน 858 คน 2) CompTIA Security+/ CySA+/ Pentest+/ Linux+/ Cloud+/ Project+ จำนวน 423 คน และ3) (ISC)2: CISSP จำนวน 70 คน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับผู้บริหาร Executive CISO, cyber clinic, โครงการการยกระดับทักษะบุคลากรภาครัฐเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ 9 จังหวัดทั่วไทย เป็นต้น

6. การสร้างความตระหนักรู้ในความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับ นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง คนพิการ ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป อาทิ Cybersecurity Knowledge Sharing มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 96,196 คน และ NCSA MOOC ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย เน้นการเรียนรู้ในรูปแบบทฤษฎีและปฏิบัติ เมื่อเรียนจบมีประกาศนียบัตรให้ ซึ่งมีผู้สนใจเข้าใช้งานกว่า 5,000 คน

7. การแข่งขัน Thailand Cyber Top Talent ผู้เข้าแข่งขันกว่า 4,260 คน และ Woman Thailand Cyber Top Talent ครั้งแรกของประเทศไทย ผู้เข้าแข่งขันกว่า 690 คน เป็นเวทีการแข่งขัน เฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อต่อยอดการพัฒนาทักษะป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ 

8. การฝึก National Cybersecurity Exercise ครั้งแรกของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบขีดความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ของหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ จะทำให้หน่วยงานที่เข้ารับการฝึกมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับการรับมือ รวมไปถึงการป้องกัน และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างทางสารสนเทศ ซึ่งเป็นผลดีต่อประชาชนผู้ใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ และถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ

9. ศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN Japan Cybersecurity Capacity Building Centre : AJCCBC) ร่วมพัฒนาบุคลากรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้มีความรู้ ความสามารถ ในการบริหารจัดการและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ โดยเปิดศูนย์ฝึกอบรมให้กับ 10 ชาติในอาเซียน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียน

10. Thailand National Cyber Week 2023 นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ผู้เข้าร่วมจำนวน 15,152 คน และ Thailand International Cyber Week 2024 สัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับนานาชาติครั้งแรกของไทย รวมผู้นําทาง Cybersecurity ทั่วเอเชีย จาก 55 ประเทศ

สำหรับอนาคต สกมช. มีแผนการดำเนินงานที่ท้าทายเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ในการขยายความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการระมัดระวังการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อใช้ในการตรวจจับและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคต พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้และความตระหนักรู้ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประชาชนทุกช่วงวัยให้สามารถใช้ชีวิตบนโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย

ในโอกาสครบรอบ 3 ปีนี้ สกมช. ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนและร่วมมือกันในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศไทย และก้าวไปสู่ความปลอดภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน