30 พ.ค. 2567 636 26

ดีอี เตือน 'ผู้ถือครองซิม ตั้งแต่ 6 -100 หมายเลข' ที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตน ให้รีบทำก่อน 13 ก.ค.67 นี้

ดีอี เตือน 'ผู้ถือครองซิม ตั้งแต่ 6 -100 หมายเลข' ที่ยังไม่ได้ยืนยันตัวตน ให้รีบทำก่อน 13 ก.ค.67 นี้

เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ แจ้งว่า ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 เรื่องการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีจำนวนตั้งแต่ 6 เลขหมายขึ้นไป สำหรับผู้ถือครองซิมที่ต้องยืนยันตัวตน ซึ่งหากผู้ถือครองซิมการ์ดรายใดไม่มายืนยันตัวตนในกำหนด หมายเลขอาจถูกระงับการใช้งานชั่วคราว และถูกเพิกถอนไปในที่สุด เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำซิมที่ไม่มีการยืนยันตัวตนไปใช้ในการหลอกลวง ก่ออาชญากรรมออนไลน์หรือสร้างภัยสาธารณะ สำหรับผู้ถือครองซิมที่ต้องยืนยันตัวตนแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 จากข้อมูลสำนักงาน กสทช. วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 พบว่า ผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 เลขหมาย ขณะนี้มีการยืนยันตัวตนแล้วทั้งสิ้น 691,067 เลขหมาย จากจำนวนที่เข้าข่าย 3,981,251 เลขหมาย คงเหลือ 3,290,184 เลขหมาย ที่ยังไม่มายืนยันตน โดยกลุ่มนี้หากเกินจากวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 จะเข้าสู่กระบวนการระงับสัญญาณให้บริการ ทำให้ไม่สามารถโทรออก ส่งข้อความสั้น (SMS) หรือใช้งานอินเทอร์เน็ต แต่ยังสามารถรับสายโทรเข้าได้อยู่ จนกว่าจะมีการยืนยันตัวตนให้ถูกต้องที่ศูนย์บริการ หรือตามรูปแบบวิธีการลงทะเบียนยืนยันตัวตนตามที่ค่ายมือถือ นั้นๆ กำหนด

2. กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 101 เลขหมายขึ้นไป ครบกำหนดระยะเวลายืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 จากข้อมูลสำนักงาน กสทช. วันที่ 9 พฤษภาคม 2567 มีการยืนยันตัวตนแล้ว 2,584,171 เลขหมาย จากจำนวนที่เข้าข่าย 5,078,283 เลขหมาย ยังไม่มายืนยันตัวตน 2,494,112 เลขหมาย โดยในกลุ่มที่ยังไม่มายืนยันตัวตน ถูกระงับซิมชั่วคราวไปแล้วทั้งสิ้น 1,598,296 เลขหมาย

สำหรับมาตรการตรวจสอบซิมการ์ดที่เชื่อมโยงกับโมบายแบงก์กิ้ง ขณะนี้ยังไม่มีการระงับการให้บริการโมบายแบงก์กิ้งใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากอยู่ในระหว่างกระบวนการทำงานของ กสทช. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ธนาคาร และค่ายมือถือ โดยมีขั้นตอนดำเนินการตามแถลงข่าวของสำนักงาน กสทช. เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ดังนี้


1) ธนาคารจะเป็นผู้รวบรวมบัญชี (เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือ เลขหนังสือเดินทาง) พร้อมเบอร์โทร โมบายแบงก์กิ้งที่ผูกกับบัญชีธนาคาร ส่งให้ ปปง. ตามช่องทางที่กำหนด

2) ปปง. รับข้อมูลเลข ID ประจำตัว และเบอร์โมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เข้ารหัส แล้วเปิดช่องทางสื่อสารข้อมูลให้ กสทช.

3) กสทช. รับข้อมูลจาก ปปง.นำเบอร์โทรมาแยกเครือข่าย เพื่อส่งตรวจหารายชื่อผู้ถือครอง และตรวจเปรียบเทียบกับรายชื่อเจ้าของบัญชีว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ แล้วแจ้งผลให้ ปปง. และธนาคาร ทราบต่อไป

โดยหากผลการตรวจคัดกรองพบชื่อผู้ถือครองซิมการ์ดโมบายแบงก์กิ้ง กรณีที่ไม่มีการยืนยันซิมการ์ดอย่างถูกต้อง หรือเป็นซิมการ์ดที่เข้าข่ายต้องสงสัย ปปง. หรือ ธนาคาร จะดำเนินการแจ้งเจ้าของบัญชีธนาคาร ผ่านแอปพลิเคชั่นโมบายแบงก์กิ้ง เท่านั้น โดยไม่มีการแจ้งผ่านข้อความ SMS เพื่อให้มายืนยันตัวตน

สำหรับ มาตรการ ตรวจสอบซิมการ์ดที่ใช้กับโมบายแบงกิ้งนี้ ได้ยกเว้นให้ผู้ที่มีเหตุผลความจำเป็น เช่น ใช้ซิมเพื่อเปิดโมบายแบงก์กิ้งให้ บุคคลในครอบครัว หรือบิดามารดา หรือ ใช้ซิม ของนิติบุคคล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระบวนการตรวจสอบซิมที่ใช้กับโมบายแบงกิ้งดังกล่าว คาดว่าจะแล้วเสร็จในระยะเวลา 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม 2567 ซึ่งในระหว่างนี้จะยังไม่มีการระงับการใช้งานโมบายแบงก์กิ้ง เบื้องต้นทาง สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ค่ายมือถือ ได้อำนวยความสะดวกให้ ประชาชนสามารถตรวจสอบชื่อลงทะเบียนซิมและหมายเลขบัตรประชาชนว่าตรงกันหรือไม่ ผ่านช่องทาง *179*เลขบัตรประชาชน# โทรออก

เรื่องการยืนยันตัวตนผู้ที่ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6-100 หมายเลข ภายในวันที่ 13 ก.ค.นี้ เป็นมาตรการเดิมของ กสทช. ที่ประกาศเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 จึงขอแจ้งให้ผู้ที่ยังไม่มายืนยันตัวตน ดำเนินการมายืนยันตัวตนตามเวลาดังกล่าว สำหรับ มาตรการตรวจสอบซิมการ์ดที่ใช้กับโมบายแบงก์กิ้ง อยู่ระหว่างการดำเนินการของ กสทช. ปปง. สมาคมธนาคารไทย และค่ายมือถือ และขอยืนยันว่า ยังไม่มีการระงับบริการโมบายแบงก์กิ้ง ใดๆ ทั้งสิ้น ” เวทางค์ กล่าว