18 มิ.ย. 2567 631 3

ดีอี-บช.ก. ตรวจยึดอุปกรณ์ STARLINK รับ-ส่งสัญญาณเน็ตฯผ่านดาวเทียม ตัดวงจร 'โจรออนไลน์' ก่อนส่งข้ามแดนกัมพูชา-เมียนมาร์

ดีอี-บช.ก. ตรวจยึดอุปกรณ์ STARLINK รับ-ส่งสัญญาณเน็ตฯผ่านดาวเทียม ตัดวงจร 'โจรออนไลน์' ก่อนส่งข้ามแดนกัมพูชา-เมียนมาร์

ระเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการแถลงข่าวการตรวจยึดของกลาง อุปกรณ์ รับ-ส่ง สัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink โดยมี ดร.เอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB)  นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมแถลงข่าว




รมว.ประเสริฐ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก การดำเนินมาตรการปราบปรามอาชญากรรมทางออนไลน์ ตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กระทรวงดีอี โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC 1441) ได้บูรณาการทำงานร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย บก.ปอศ. เปิดปฏิบัติการเข้าตรวจยึดอุปกรณ์ รับ-ส่ง สัญญาณอินเตอร์เน็ต STARLINK ซึ่งเป็นอุปกรณ์ชุดสื่อสารในการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านระบบดาวเทียม ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และ กสทช.ไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 58 ชุด

ทั้งนี้ อุปกรณ์ดังกล่าว สามารถตรวจยึดได้จากร้านรับ-ส่งพัสดุ ใน อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยระบุที่อยู่ปลายทาง ใน อ.แม่สอด และอ.แม่ระมาด จ.ตาก ซึ่งสันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นของขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มเครือข่ายพนันออนไลน์ ที่ต้องการส่งออกไปยังชายแดนประเทศไทย จากฝั่งชายแดนประเทศกัมพูชาไปยังชายแดนประเทศเมียนมาร์ เพื่อเตรียมนำมาใช้ในการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ ซึ่งอุปกรณ์ทั้งหมดถือเป็นสินค้าที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย โดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดไว้


นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 67 กองทัพเรือ โดยกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (ฉก.นย.จันทบุรี) ได้เข้าตรวจสอบยึดกล่องพัสดุ จำนวน 6 กล่อง ที่มีอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink จำนวน 30 ชุดบรรจุอยู่ บริเวณหน้าร้านรับ-ส่งพัสดุ พื้นที่ อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี


“จากการดำเนินมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องของเสาสัญญาณ และสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อข้ามประเทศที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยมี กสทช. ดำเนินการร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่แนวชายแดน ทำให้กลุ่มมิจฉาชีพ เริ่มมีการปรับรูปแบบการก่ออาชญากรรมทางออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและปราบปราม ทำให้กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องปรับรูปแบบตาม โดยมุ่งเน้นการเพิ่มมิติการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงเพิ่มมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหา และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนต่อไป” รมว.ประเสริฐ กล่าว