18 มิ.ย. 2567 276 0

กองทุนพัฒนาสื่อฯ เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ชี้คนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ วันละกว่า 2 แสนคน

กองทุนพัฒนาสื่อฯ เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ ชี้คนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ วันละกว่า 2 แสนคน

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานสรุปผลการเสวนาจาก 5 ภูมิภาค เกี่ยวกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันและเฝ้าระวังสื่อ “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม พร้อมเปิดร่างมาตรการการส่งเสริมพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ เผยตัวเลขคนไทยตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพสูงวันละกว่า     2 แสนคน รับสายมิจฉาชีพปีละ 20.8 ล้านครั้ง ขณะที่สถิติแจ้งความออนไลน์สะสมร่วม 3 เดือนที่ผ่านมามีคดีออนไลน์ 518,130 คดี มูลค่าความเสียหายเกือบ 7 หมื่นล้านบาท สามารถเอากลับคืนมาได้เพียงแค่หลักพันล้าน โดยอันดับหนึ่งของคดีออนไลน์ คือ ถูกหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้เดินหน้าตามกลยุทธ์การดำเนินงาน 5 ยุทธศาสตร์ 6 สร้าง ได้แก่ สร้างสื่อ สร้างคน สร้างภูมิคุ้มกัน สร้างองค์ความรู้ สร้างเครือข่าย และสร้างองค์กร ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งข้อมูลข่าวสารและนำเสนอความคิดเห็น ในขณะเดียวกันทุกคนก็ต้องรับผิดชอบตัวเองในการเปิดรับข้อมูล การจะใช้มาตรการภาครัฐหรือกฎหมายอย่างเดียวทำได้ยากมาก สังคมจึงต้องตระหนัก ตื่นรู้ ด้วยการมีภูมิคุ้มกันในการรับสื่ออย่างมีสติ คิดวิเคราะห์ก่อนที่จะเชื่อและแชร์ ซึ่งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ มุ่งมั่นนำสิ่งที่เป็นวัคซีนทางสังคมไปสู่พี่น้องประชาชน ให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามออนไลน์ ที่ยากต่อการหลีกเลี่ยงในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


ด้าน ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เปิดเผยว่า ในยุคดิจิทัลทุกคนต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์มากขึ้น การเผชิญกับภัยคุกคามออนไลน์กลายเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ทางคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ เห็นถึงการสนับสนุนให้คนไทยมีทักษะในการวิเคราะห์แยกแยะและใช้สื่อในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ จึงได้จัดเวทีเสวนาการส่งเสริม “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ” เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ น่าน สงขลา กาญจนบุรี จันทบุรี และอุบลราชธานี เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับประชาชนทั่วทั้ง 5 ภูมิภาค ที่มีความหลากหลายตามลักษณะประชากรและลักษณะภูมิศาสตร์ เป็นการสร้างแนวร่วมและขยายเครือข่ายเฝ้าระวังสื่อเพื่อการขับเคลื่อนสังคมในระดับภูมิภาค โดยการลงพื้นที่ศึกษาการทำงานของภาคีเครือข่ายทั้ง 5 ภูมิภาค ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูล สังเคราะห์เป็นภาพรวมสถานการณ์การเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อของไทย พบว่าปัญหาร่วมที่แต่ละภูมิภาคประสบ คือ ภัยหลอกลวงออนไลน์ อาทิ การหลอกลวงให้ซื้อของไม่มีคุณภาพ การหลอกให้กู้สินเชื่อออนไลน์ดอกเบี้ยสูง การแฮกข้อมูลจากมือถือ การกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ การหลอกให้รัก ภัยจากข่าวลวง และการพนันออนไลน์ที่พบมากในสถานศึกษา รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเทคโนโลยีและข่าวสาร 


สำหรับการเสวนา “เสริมพลัง ร่วมป้องกัน ปัญหาภัยออนไลน์” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาทางออนไลน์ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (ด้านกิจการโทรทัศน์) กล่าวว่า ช่องทางในกระบวนการสื่อสารเดิมเป็นเพียงตัวกลางในการนำพาเนื้อหาไปสู่ประชาชน อาจจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือคลื่นความถี่ต่าง ๆ แต่ปัจจุบัน Channel เปลี่ยนไปเป็นคำว่า “แพลตฟอร์ม” ซึ่งมีความฉลาดมาก มี Algorithm มีสมองกล และเอไอ ที่สามารถประมวลผลคาดการณ์ได้ โดยภัยร้ายจากโซเชียลมีเดียปัจจุบันจะมีลักษณะของการออกแบบเนื้อหาบวกกับการใช้ Algorithm ประมวลผลจากข้อมูล และพฤติกรรมจากสังคมออนไลน์ที่เราคุ้นเคย ประกอบกับมีการใช้ปัจจัยด้านจิตวิทยา โดยนำเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้หลงเชื่อกลโกงออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการรู้เท่าทันการหลอกลวงออนไลน์ หรือเข้าใจสื่อ ด้วยการอ่านแบบ Lateral Reading การอ่านข้อมูลจากหลายแหล่ง พร้อมสืบค้นแหล่งข้อมูล เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลนั้น ๆ


ด้าน ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท โกโกลุก (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน “Whoscall” กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมากขึ้นถึงวันละ 217,047 คน ซึ่งในระยะเวลา 1 ปี มีสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพ 20.8 ล้านครั้ง และมี SMS หลอกลวง 58.3 ล้านครั้ง ทั้งนี้ Whoscall แบ่งวิวัฒนาการกลลวงมิจฉาชีพ เป็น 5 ยุค คือ ยุคแรก หลอกซึ่งหน้า ยุคที่ 2 ใช้โทรศัพท์ โทรมาหลอก ยุคที่ 3 สร้างเพจปลอม ซึ่งเป็นยุคที่โซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามา ยุคที่ 4 เป็นการหลอกแบบรู้ใจ มีการนำเอาเรื่องข้อมูลหรือบิ๊กดาต้าเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเหยื่อและจับประเด็นความสนใจ และปัจจุบันคือยุคที่ 5 ซึ่งอันตรายยิ่งขึ้น เพราะเป็นการหลอกด้วยเอไอ ซึ่งรู้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการปลอมตัวตน  


ณัชภัทร ขาวแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์และติดตามสอดส่องการประกอบธุรกิจ กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า รูปแบบการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง (ออนไลน์) ผู้ประกอบธุรกิจที่มีสื่อไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน โทรศัพท์ โทรทัศน์ หรือสิ่งพิมพ์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถจะซื้อสินค้าจากที่ไหนก็ได้ เข้าข่ายต้องมาจดทะเบียนกับ สคบ. ทั้งสิ้น ซึ่งจะมีการกำหนดหลักประกันในการคุ้มครองและชดเชย โดยมีสิทธิพื้นฐานให้กับผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าแล้วไม่พึงพอใจ สามารถใช้สิทธิ์ในการคืนสินค้าได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยผู้ประกอบธุรกิจฯ ต้องคืนเงินให้ตามที่ซื้อภายใน 15 วัน และเร็ว ๆ นี้ จะมีการออกประกาศเรื่องของการออกเอกสารการรับเงินในกรณีที่ซื้อสินค้าเก็บเงินปลายทาง จะให้ผู้บริโภคสามารถเปิดสินค้าดูได้ก่อน และผู้ขนส่งจะต้องเก็บเงินไว้ 5 วัน ก่อนโอนให้ร้านค้า 


ด้าน ภิญโญ ตรีเพชราภรณ์  ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความเสี่ยงภาพรวม ธนาคารแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ปัญหาการถูกหลอกลวงของประชาชนยังมีช่องโหว่อยู่มาก มิจฉาชีพสามารถเข้าถึงประชาชนผ่านหลายช่องทางและหลายรูปแบบมากขึ้น และยังมีการซื้อ-ขายบัญชีม้าอยู่มาก เมื่อพบบัญชีผิดปกติ สถาบันการเงินไม่สามารถอายัดได้ทันที ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาให้กับผู้เสียหายยังมีความล่าช้า ต้องรอให้แจ้งความและแจ้งสถาบันการเงินเพื่ออายัดบัญชี ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภาคธนาคารได้มีความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการเร่งแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่ 1. แนวนโยบายบริหารจัดการภัยทุจริตจากการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยมีชุดมาตรการขั้นต่ำสำหรับจัดการภัยทุจริตทางการเงินครอบคลุมด้านการป้องกัน ตรวจจับ ตอบสนองและรับมือ และ 2. จากพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ได้ให้อำนาจธนาคารสามารถที่จะระงับและแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมอันควรสงสัยในภาคธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านระบบกลาง 

สำหรับข้อแนะนำสำหรับประชาชน ในการการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย แนะนำว่า จะต้องมีการตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยติดตามภัยทุจริตรูปแบบใหม่ ๆ ไม่คลิกลิงค์ใด ๆ จากไลน์ อีเมล์ หรือ SMS ที่ไม่น่าเชื่อถือ หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัว ตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดา และหมั่นอัปเดตโทรศัพท์ รวมทั้งไม่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันจากแหล่งอื่นที่ไม่น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดี หากตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพแล้วจะต้องตั้งสติ หยุดการติดต่อกับมิจฉาชีพ และแจ้งธนาคารที่ใช้บริการทันที โดยมีช่องทางสายด่วน AOC 1441 หรือสายด่วนธนาคาร 24 ชม.หรือสาขาธนาคารในเวลาทำการ และแจ้งความอย่างรวดเร็วภายใน 72 ชม. ผ่านสถานีตำรวจหรือเว็บไซต์ Thaipoliceonline.com  


ขณะที่ ประภารัตน์ ไชยยศ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า ETDA มีภารกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยธุรกรรมทางออนไลน์ และต้องสร้างความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ที่ผ่านมาข้อมูลจากศูนย์ให้ความช่วยเหลือของ ETDA สายด่วน 1212 พบว่าปัญหาหลักคือ การซื้อของออนไลน์ ซึ่ง ETDA มีการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในทุก ๆ ปี พบว่า ในช่วงโควิดปี 2563 - 2564 อัตราการเติบโตอยู่ที่ 36% ทำให้ทุกคนคุ้นชินกับออนไลน์โดยเฉพาะการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และตัวเลขยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัญหาเรื่องมิจฉาชีพจึงเติบโตตามไปด้วย เฉพาะที่ผ่านสายด่วน 1212 ปีที่ผ่านมา มีกว่า 6 หมื่นกว่าราย ซึ่งการซื้อขายออนไลน์มูลค่าการเสียหายต่อรายอาจไม่มาก แต่เมื่อรวมหลาย ๆ เคส บางรายเป็นการหลอกมาจากผู้ให้บริการรายเดียวกันทำให้ ETDA เห็นว่าควรจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาและมองว่าปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มดิจิทัล ในปีที่ผ่านมาจึงมีการบังคับใช้ “พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565” และอยู่ระหว่างพัฒนาแนวทางในการดูแลเนื้อหาของโฆษณาบนแพลตฟอร์มดิจิทัล 


พ.ต.ท. ดร.ปุริมพัฒน์ ธนาพันธ์สิริ รอง ผกก.4 บก.สอท.1 ผู้แทนหน่วยกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า การสื่อสารสำคัญมาก ซึ่งตำรวจจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ได้รับเรื่อง แต่ประเด็นสำคัญคือ การป้องกันสำคัญกว่า การให้ความรู้โดยการสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก สถิติการแจ้งความออนไลน์สะสม 1 มีนาคม 2565 - 12 พฤษภาคม 2567 มีคดีออนไลน์ 518,130 คดี มูลค่าความเสียหายเกือบ 7 หมื่นล้านบาท แต่สามารถเอากลับคืนมาได้ในเพียงแค่หลักพันล้าน ซึ่ง 5 อันดับแรกของคดีออนไลน์ คือ 1. ถูกหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ไม่เป็นขบวนการ 2. หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 4. หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5. ถูกข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center)


ส่วน จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า การเป็นสื่อมวลชนมีสิทธิและเสรีภาพ แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับต่าง ๆ และอยู่ภายใต้จริยธรรมสื่อด้วย ซึ่งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยินดีที่จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมที่เกิดจากโลกออนไลน์ ซึ่งสังคมไทยปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และสิ่งที่มีเพิ่มขึ้นก็คือจำนวนของผู้สูงอายุที่ถูกหลอกหรือเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ทางสมาคมฯ เชื่อมั่นว่าการมีส่วนร่วมในการเตือนสังคมทั้งจากสื่อมวลชน KOL และ Influencer จะเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว


อนึ่ง ร่างมาตรการการส่งเสริมพัฒนาและสร้างทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวเอง ชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ดร.ตรี  บุญเจือ อนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กล่าวว่า ร่างดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่าย 5 ภูมิภาค สำหรับร่างมาตรการดังกล่าวจะมีการทำงานขับเคลื่อนใน 4 มาตรการ คือ 1.มาตรการบูรณาการการทำงานภาครัฐ 2. มาตรการทางสังคมและประชาคม 3.มาตรการการส่งเสริมและสร้างความตระหนักของผู้ผลิตสื่อ 4. มาตรการพัฒนาความรู้และวิชาการ สิ่งที่เป็นเป้าหมายของร่างมาตรการนี้ คือการที่จะมุ่งให้ประชาชนไทยมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สามารถใช้ประโยชน์ให้สื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง ชุมชน และสังคม