20 มิ.ย. 2567 168 0

‘หนึ่งก้าวที่ออกจาก Safe Zone ทำให้ค้นพบศักยภาพที่แท้จริง’ นักทำคอนเทนต์ที่เติบโตจากการเผชิญหน้ากับความกลัว - ความท้าทาย - ขีดจำกัดของตัวเอง

‘หนึ่งก้าวที่ออกจาก Safe Zone ทำให้ค้นพบศักยภาพที่แท้จริง’ นักทำคอนเทนต์ที่เติบโตจากการเผชิญหน้ากับความกลัว - ความท้าทาย - ขีดจำกัดของตัวเอง

โลกการทำงานปัจจุบันต้องการความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนที่หลากหลาย บทความในนิตยสาร Forbes ระบุว่า สมาชิกที่มีภูมิหลัง มุมมอง และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มักทำงานได้ดีกว่าทีมที่มีความเหมือนกันในหลายด้าน รวมไปถึงการแก้ปัญหาและการตัดสินใจ นอกจากนี้สถานที่ทำงานที่ยอมรับความหลากหลายทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและมีส่วนร่วม ซึ่งส่งต่อขวัญกำลังใจและสร้างผลงานที่ดีขึ้น


สุมาลา วงศ์ขำ คืออีกหนึ่งตัวแทนของทรู จากสายงาน Digital Communications ที่มีความแตกต่างหลากหลายด้านภูมิหลังและความสนใจ เธอทำงานกับองค์กรมา 18 ปี และมีช่วงเวลาหนึ่งที่เธอได้โอกาสรับเลือกเข้าร่วมโครงการ Strategic Project and Leadership Development  ทำให้ได้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนไว้จากงานที่ท้าทาย พร้อมไปกับสร้างผลงานในพื้นที่มอบหมายให้ดีขึ้น

ต่อไปนี้คือประสบการณ์ชีวิตที่เติบโตจากเผชิญหน้ากับความท้าทาย และการก้าวออก Safe Zone ของตัวเองมาเจอศักยภาพที่ซ่อนไว้ พร้อมกับชวนให้ทุกคนกล้าพูดกล้าทำ และแสดงความเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด

สนุกกับการทำสิ่งใหม่ในโลกกว้าง

“เมื่อก่อนเราไม่ได้มีความมั่นใจ ไม่กล้าพูดกล้าทำอย่างที่เป็นในตอนนี้ เราเป็นคนเงียบๆ แต่ชอบคิด ชอบหาข้อมูล ลงมือทำงานช่าง งานศิลปะต่างๆ และชอบทำงานหาเงิน เราทำงานพาร์ทไทม์ตั้งแต่เรียน ม.3 ทั้งที่บ้านก็ไม่ได้ขัดสน แต่คนรอบข้างทำงานกันหมด พี่ชายพี่สาวก็ออกไปทำงานพาร์ทไทม์ พอเขามาชวนเราก็ไปทำด้วย เพราะอยากได้ค่าขนมเพิ่ม”

“เริ่มจากงานแจกใบปลิวที่ทำแค่ 2 ชั่วโมงได้เงิน 500 บาท ซึ่งถือว่าคุ้มมาก เพราะนั่งรถเมล์ไปกลับแค่ 16 บาทเอง จากนั้นก็ติดใจใครชวนไปทำงานอะไรก็ไป ทำทั้งงานตักไอศครีม งานคีย์ข้อมูล งานเต้นแอโรบิก และงานห่อของขวัญในห้าง ทำงานทุกอย่าง ได้เจอคนหลากหลาย แต่ในวัยนั้นเราก็ยังไม่ค่อยมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นมากนัก”

เสียงที่ยังไม่มีความหมาย

“จริงๆ ความฝันคืออยากเรียนสถาปัตย์ เพราะอยากเขียนแบบ แต่สอบไม่ติด จึงเลือกเรียนพาณิชย์ด้านคอมพิวเตอร์ โดยมองว่าต่อไปทุกคนต้องใช้กัน ระหว่างนั้นก็ไปลงเรียนเสริมซ่อมคอม ประกอบคอม เพื่อให้มีความรู้ครบรอบด้าน หลังเรียนจบ ปวศ. ก็เรียนต่อปริญญาตรีภาคสมทบด้านสารสนเทศ เรียนวันเสาร์อาทิตย์ พร้อมไปกับการทำงานเต็มเวลาวันจันทร์ถึงศุกร์เป็นพนักงานคีย์ข้อมูลในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง”

“ด้วยความที่เรียนด้านสารสนเทศ ทำให้เราเห็นจุดที่จะพัฒนางานให้ดีและเร็วขึ้นได้ จึงลองเสนอกับหัวหน้างาน แต่เขากลับตอบว่า ‘ไม่ต้องเปลี่ยนหรอกน้อง ทำเหมือนเดิมก็ดีอยู่แล้ว’ ถึงจะพยายามอธิบาย แต่เขาก็ไม่รับฟัง อาจเพราะเขาไม่อยากจะต้องลองสิ่งใหม่ๆ รวมถึงวัยและวุฒิของเรายังไม่ทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวเราได้”

งานที่ชอบกับสภาพแวดล้อมที่ทุกเสียงมีคุณค่า

“ต่อมาได้ย้ายงานมาเป็นพนักงานชั่วคราวที่ทรู ครั้งนี้ได้งานแบบที่ชอบคือ การทำงานกับระบบข้อมูล พอทำงานตัวเองเสร็จ เราก็สนใจแอบดูทีมข้างเคียงที่ทำงานเขียนคอนเทนต์ เขียนตอบคอมเมนต์ลูกค้าในออนไลน์ ด้วยความอยากรู้เราก็ถามเขาบ้างหรือเวลาเขามาถามข้อมูลจากเรา เราก็ได้เรียนรู้ไปด้วย ต่อมาพี่ๆ เห็นแววก็เลยให้มาช่วยงานด้านออนไลน์คอนเทนต์ และ SMS Broadcast พอเรียนจบได้วุฒิปริญญาตรี พี่ๆ ในแผนกก็ผลักดันให้ได้เป็นพนักงานประจำ ก่อนย้ายมาสาย Commercial ที่ดูแลโซเชียลมีเดียทางการของทรูอย่างเต็มตัว”

“เราชอบวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดกว้างรับฟัง และเปิดใจให้กับคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย สำหรับที่ทรู ตั้งแต่เราเป็นแค่เด็กพนักงานชั่วคราว พี่ๆ ก็รับฟังความเห็นความคิดเห็น โดยไม่เคยกีดกันหรือแบ่งแยกว่า เธอยังเรียนไม่จบ หรือไม่เคยทำงานนี้ แต่ทุกคนให้คุณค่ากับคนทำงาน รับฟังมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งก็ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นการทำงานใหม่ๆ พอเสียงของเรามีความหมาย ก็มีกำลังใจ และอยากเรียนรู้พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

หาคำตอบของการออกจาก Safe Zone

“จุดเปลี่ยนยิ่งใหญ่ในชีวิตของเราเกิดขึ้นตอนที่ได้เข้าโครงการ Strategic Project and Leadership Development (SPLD) ของทรู โดยได้รับมอบหมายลงพื้นที่ อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอำเภอห่างไกลตัวเมือง เพื่อบริหารยอดขายในพื้นที่ร่วมกับทีมอีก 4 คนที่มาสายงานแตกต่างกัน ตอนนั้นเราทั้งเครียดและกลัวมาก เพราะหนึ่ง ต้องข้ามไปทำงานที่ไม่มีประสบการณ์ ทั้งการตลาด บัญชี ติดต่อประสานงาน และสอง ต้องอยู่ห่างครอบครัวเป็นครั้งแรกในชีวิต”

“ตอนอบรมก่อนลงพื้นที่จริง เราได้ยินคำว่า ‘ต้องออกมาจาก Safe Zone’ คำพูดดูดีนะ แต่ออกมายังไงล่ะ จบการอบรมนั้นก็ยังไม่รู้คำตอบ จนกระทั่งได้ไปทำงานจริงและหาวิธีก้าวออกมาเอง เริ่มจากสิ่งที่กลัวที่สุดคือ การพูดคุยติดต่อกับผู้คนมากมาย เพราะรู้ตัวว่าพูดไม่เก่ง บุคลิกก็ไม่เรียบร้อย แต่เมื่องานบังคับให้ต้องติดต่อเจรจากับคนทุกกลุ่มในพื้นที่ ตั้งแต่หน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน คนใหญ่คนโตในพื้นที่ และชาวบ้าน ไปจนถึงถือไมค์เดินพูดขายของในตลาด เราก็ต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้”


ยิ่งกลัวยิ่งต้องเผชิญหน้า จนกว่าจะกล้าในที่สุด

“จำได้ว่าวันแรกที่ต้องเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด น้องในทีมที่มาจาก True Shop เป็นคนนำไป น้องมีบุคลิกดี กริยาสำรวม พูดจาเพราะ เราก็สังเกตและศึกษาเขาเป็นตัวอย่าง เมื่อต้องมาเองก็เตรียมตัวมาอย่างดี ถึงหน้างานก็คิดแค่ว่า ‘เอาน่า ครั้งเดียว ไม่ต้องอาย ลุยเลย’ พร้อมก้าวข้ามความกลัวออกไปทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หรือตอนเดินถือไมค์พูดในตลาด เราก็คิดแบบเดียวกัน อาจมีผิดพลาดแต่ก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง ที่สำคัญคือเรากลับมาทบทวนตลอดเพื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นต่อไป ส่วนงานที่เราถนัดอย่างงานช่างงานประดิษฐ์ต่างๆ ก็มาเสริมในการทำอุปกรณ์สำหรับการตลาดได้เป็นอย่างดี”

“ยอมรับว่า การก้าวออกจาก Safe Zone ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่พอเริ่มเผชิญหน้ากับความกลัวหรือความไม่ชอบซ้ำๆ จนเคยชิน เราก็กลายเป็นคนกล้าพูด มั่นใจ กล้าตัดสินใจอย่างไม่รู้ตัว และกลายเป็นว่าเราชอบงานที่คิดว่าทำไม่ได้ นั่นคือการพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก คราวนี้ไม่ว่าจะเป็นการพรีเซนต์งาน หรือพูดขายของในตลาด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากสำหรับเราอีกต่อไปแล้ว”

“สำหรับผลงานโครงการทีม SPLD ที่ อ.บัวใหญ่ ก็เห็นผลลัพธ์ที่ดี มีกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นเริ่มใช้เครือข่ายทรูมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ยอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะทรูออนไลน์ นี่คือความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนางานและสร้างรายได้ให้องค์กร”

การเติบโตทุกด้านจากประสบการณ์ที่ท้าทาย

“หลังจบโครงการแล้วกลับมาที่ออฟฟิศทรู พี่ๆ ในทีมก็แปลกใจ ทำไมน้องเปลี่ยนไปเยอะมาก เขารู้สึกทึ่งที่เรากล้าออกความเห็น ตรงไหนมีอะไรที่ทำแล้วงานจะดีขึ้น เรายกมือเสนอทันที รวมถึงมีความมั่นใจ กล้าตัดสินใจมากขึ้น รวมถึงการพูดบนเวทีในห้องประชุมคนเป็นร้อย ซึ่งกลายเป็นทักษะที่เราชอบมากจนถึงทุกวันนี้”

“เรายังคงสนุกกับการเรียนรู้และลองทำสิ่งใหม่ๆ มาก วันว่างเราเริ่มออกทริปขี่มอเตอร์ไซค์ไปต่างจังหวัดกับเพื่อน โดยไปกันแค่ 3 คัน ไม่ได้ไปกันเป็นกรุ๊ปใหญ่ ถามว่ากลัวไหม กลัวอยู่แล้ว เพราะการขี่มอเตอร์มีความเสี่ยงมากกว่ารถยนต์ แต่ก็อยากลองเที่ยวแบบใหม่บ้าง ถึงเราจะขี่มอเตอร์ไซค์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่การขี่ระยะไกลข้ามหลายจังหวัด ต้องเตรียมตัวและวางแผนให้พร้อม ใครขี่นำขี่ตาม ควรทำความเร็วเท่าไหร่ ทุกครั้งที่กลับมาก็คุยกันว่าทริปนี้ควรปรับปรุงยังไง ใครเร็วไปช้าไป ก็ถือเป็นเรื่องสนุกท้าทายอีกอย่างในชีวิต”

การเปิดใจกว้างเพื่อมองเห็นศักยภาพที่แท้จริง

“ทุกคนมีความแตกต่าง แต่เราเชื่อในศักยภาพที่มนุษย์ต่างมี สำหรับตัวเราที่เป็นคนอารมณ์ดี แล้วก็มีรูปลักษณ์ที่คนคิดว่าต้องเป็นคนตลก สิ่งภายนอกนี้บางทีก็ทำให้คนมองข้ามความคิดเห็นที่จริงจังหรือความสามารถที่เรามีไปบ้างเหมือนกัน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนเปิดใจกว้าง อย่าตัดสินคนไปก่อน แล้วรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ก็อาจได้มุมมองใหม่ๆ ที่ดีก็ได้”

“และถ้าตอนนี้ใครกลัวที่จะเริ่มสิ่งใหม่หรือเครียดที่ต้องเจอความท้าทาย ก็อยากให้ลอง ลงไปเรียนรู้และทำให้เต็มที่ เมื่อข้ามจาก Safe Zone สักหนึ่งก้าว ก็อาจเจอความชอบหรือความสามารถที่ซ่อนไว้ที่รอให้ค้นพบในวันที่กล้าพอ”

Lesson Learned การก้าวออกจาก Safe Zone เพื่อค้นพบตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด

Embracing Adversity: อดทนต่อความลำบาก มองความท้าทายเป็นโอกาส เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้

Overcoming Obstacles: เอาชนะอุปสรรคด้วยการหาวิธีที่คิดสร้างสรรค์ พร้อมกับความมุ่งมั่นและตั้งใจ

Developing Skills Through Challenges: ขยายขอบเขตความรู้และความสามารถ จนค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่และเกิดเป็นทักษะใหม่

ทรู คอร์ปอเรชั่น เชื่อว่าความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพศ วัย อายุ เชื้อชาติ ความสนใจ ไลฟ์สไตล์ โดยในเดือนแห่งความภาคภูมิใจในความหลากหลาย (Pride Month) ทรู แสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม จากการผสานความแตกต่าง โอบรับความหลากหลายของทุกคนในทุกมิติ และกล้าแสดงความเป็นตัวเอง ผ่านแคมเปญ #BringYourBest เพราะที่ทำงานคือพื้นที่ให้เราได้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด พร้อมนำเสนอเรื่องเล่าของคนทรู ที่สะท้อนความแตกต่างหลากหลายและเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพและความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง

อ่านบน True Blog: https://true.th/blog/bringyourbest_sumala/