28 มิ.ย. 2567 204 0

องค์กรยุคใหม่ ชนะใจ Talent ด้วย 'Inclusive Workplace' โอบรับทุกความแตกต่างบนทุกเส้นทางของการเติบโต

องค์กรยุคใหม่ ชนะใจ Talent ด้วย 'Inclusive Workplace' โอบรับทุกความแตกต่างบนทุกเส้นทางของการเติบโต

ในโลกปัจจุบันของการใช้แรงงาน ความหลากหลาย (Diversity) ความเท่าเทียม (Equality) และการไม่แบ่งแยก (Inclusion) ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญสูงสุดและจริงจัง ด้วย DE&I มีผลต่อความสำเร็จขององค์กรมากมาย จากรายงานของ McKinsey ระบุว่า บริษัทที่มีความหลากหลายและสร้างการมีส่วนร่วม มีแนวโน้มที่จะบรรลุผลการดำเนินธุรกิจที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งถึง 35% ขณะที่ Harvard Business Review (HBR) ระบุว่าความหลากหลาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สามารถเจาะตลาดใหม่มากขึ้นถึง 70% นอกจากนี้ จากการศึกษาของ LinkedIn ยังพบว่า 76% ของพนักงานและผู้ที่กำลังหางาน มอง “Diversity” เป็นเงื่อนไขหลักของการพิจารณารับข้อเสนอตำแหน่งงาน สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องร่วมงานกับบริษัทที่ให้ความสำคัญในประเด็นของ DE&I…และในฐานะ HR ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้



มานะ โตเจริญ หัวหน้าสายงานด้านทรัพยากรบุคคล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น
ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์การทำงานด้าน HR ของเทคคอมปานีไทย ในการสร้างสังคมการทำงานให้น่าอยู่สำหรับทุกคน (Diversity and Inclusion Promotion in Workplace) ในเวทีสัมมนา “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” จัดโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Network Compact Thailand – UNGCNT) 


เพราะ Diversity ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเพศ

มานะ กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของการสร้างองค์กรที่พนักงานทุกคนเคารพในความหลากหลายได้อย่างแท้จริง คือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง คำว่า “Diversity” นั้น ไม่ได้มีความหมายเพียงเฉพาะเรื่องเพศเท่านั้น หากแต่ครอบคลุมความแตกต่างในทุกมิติ เช่น ด้านเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สถานะทางสังคม อายุ และสภาพร่างกาย ซึ่งทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้นำบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีของไทย เราเชื่อว่า “ความหลากหลาย” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม คิดค้นสิ่งใหม่ๆ รวมถึงการดึงดูดคนเก่งผู้มีความสามารถ (Talent) เข้ามาร่วมงานในองค์กร โดยทรู มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมกันของพนักงานทุกคน เคารพสิทธิมนุษยชน สร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการมีส่วนร่วม อันมาซึ่งความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่พร้อมจะขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า ตลอดจนเปิดโอกาสให้เพื่อนพนักงานทุกคนได้มีพื้นที่ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างน่าภูมิใจ”


“มองข้ามผ่าน” เพื่อจัดการกับ “ความท้าทาย”

ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม ทุกความหลากหลาย รวมถึงกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมมาโดยตลอด ไม่ใช่แค่เฉพาะในเดือน Pride Month เท่านั้น ซึ่งหนึ่งในความท้าทายสำคัญของการปลูกฝังเรื่อง Diversity ในองค์กร คือ การทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ที่จะ “มองข้าม” เรื่องเพศสภาพ ทำอย่างไรให้บางคนที่อาจมี Negative Paradigm ที่ไม่คุ้นเคยกับคนกลุ่มนี้ สามารถ “ข้ามผ่าน” เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ หากแต่กลับมาสนใจในเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นคือศักยภาพในตัวบุคคลที่จะสร้างผลการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ

“ตั้งแต่ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เมื่อ 9 ปีที่แล้ว เรา ก็เริ่มพัฒนานโยบายต่างๆ เพื่อแสดงถึงความเคารพในความหลากหลาย ความเท่าเทียมกันทางเพศ ทั้งการเปิดรับสมัครงาน หรือแม้กระทั่งหลีกเลี่ยงการเรียกสรรพนาม หรือ Gender Pronoun เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าสังคมการทำงานที่องค์กรแห่งนี้ปลอดภัย” มานะ กล่าว


วิถีการสร้าง Inclusive Workplace แบบฉบับทรู

  • ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ทำให้ Diversity เกิดขึ้นจริงได้ในองค์กร ผู้บริหารระดับสูงของทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างจริงจัง สะท้อนจากการมีส่วนร่วมเป็น Champion ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่พนักงาน รวมถึงสนับสนุนด้านการสื่อสารในประเด็นนี้อย่างชัดเจน อันนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานในองค์กร
  • Recruitment Team ครึ่งหนึ่งเป็น LGBTQIA+ ด้วยเพราะต้องการสร้างความคุ้นเคย และความสบายใจให้แก่ผู้มาสมัครงาน ให้เห็นว่าทรู เป็นองค์กรที่ยอมรับเรื่องนี้ พร้อมให้เกียรติและเข้าใจพนักงานทุกคน ทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
  • พร้อมรับฟัง เปิดโอกาสให้พนักงานทุกกลุ่มมาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ได้กำหนดให้มีสวัสดิการ วันลา และสิทธิพิเศษอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงกลุ่ม LGBTQIA+ ไม่ว่าจะเป็น ลาเพื่อการผ่าตัดแปลงเพศ ลาเพื่อเข้าพิธสมรส เงินสวัสดิการสมรส ลาดูแลบุตรแรกเกิด หรือลาไปรับบุตรบุญธรรม พร้อมเงินสวัสดิการ ตลอดจนลาเพื่อฌาปนกิจ พร้อมเงินสวัสดิการช่วยเหลือ เป็นต้น

“ในวันที่เริ่มประกาศสิทธิประโยชน์ให้แก่ LGBTQIA+ เรา ยังคงตระหนักและพยายามสื่อสารมาโดยตลอดว่าองค์กรทรูแห่งนี้ ต้องการเติมเต็มพนักงานทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม ไม่ได้หมายความว่า จะให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในทางกลับกันกลุ่ม LGBTQIA+ ก็จะได้รับการอบรม เรียนรู้ว่าสามารถมีสิทธิและเสรีภาพได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น เพื่อสร้างสุดยอดสถานที่ทำงาน เป็น Workplace ที่น่าอยู่และมีความสุขอย่างแท้จริง” มานะ กล่าวสรุป

#truesustainability #BringYourBest