28 มิ.ย. 2567 189 0

กระทรวง อว. – กระทรวงอุตฯ จับมือพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หนุนนโยบายรัฐบาล ดันไทยเป็น EV Hub

กระทรวง อว. – กระทรวงอุตฯ จับมือพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) หนุนนโยบายรัฐบาล ดันไทยเป็น EV Hub

กระทรวง อว. – กระทรวงอุตฯ จับมือพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดึงความเชี่ยวชาญ สวทช.- สมอ. วิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง หนุนนโยบายรัฐบาล ดันไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 


เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.67 ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม (อก.) และ หวัง ซือ ซือ เลขานุการ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยานและกล่าวแสดงความยินดี ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กับ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้านการวิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย (Thailand EV Center of Excellence: TECE) ระหว่าง สวทช. กับ China Automotive Engineering Research Institute (CAERI) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช. และ วีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการ สมอ. ลงนามในบันทึกความร่วมมือชุดแรก และ  ผอ.สวทช.  ร่วมกับ โจหยูหลิน (Mr. Zhou Yu Lin) Chairman and Party Secretary of China Automotive Engineering Research Institute (CAERI) ร่วมลงนามในบันทึกชุดที่สอง พร้อมกันนี้ มีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. ผู้แทนหน่วยงานรัฐ และเอกชน เข้าร่วม ที่ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวง อว. ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ



น.ส.ศุภมาส กล่าวว่า  พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของกระทรวง อว. โดย สวทช. และกระทรวง อก. โดย สมอ. เป็นการทำงานร่วมกันในการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล และสอดรับกับเป้าหมายการพาประเทศไทยไปสู่ Carbon Neutrality โดยกระทรวง อว. มีนโยบาย “อว. for EV” ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ 1.การพัฒนาบุคลากรด้านอีวี (EV-HRD) 2.การเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์ไอซีอีมาเป็นอีวีในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในกระทรวง (EV-Transformation) และ 3.การวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมในอีวี(EV-Innovation)

“สวทช. ในฐานะหน่วยงานในกระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการทำงานสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 20 ปี ได้ขานรับนโยบายของ อว. for EV โดยบูรณาการการทำงานของ สวทช. ทั้งการวิจัย พัฒนากำลังคน ให้คำปรึกษา และบริการวิเคราะห์ทดสอบ โดยจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย Thailand EV Center of Excellence หรือ TECE เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโนบายของกระทรวง อว. เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น EV Hub ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก” ศุภมาส กล่าว


พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวง อก. มีความยินดีในความร่วมมือกับกระทรวง อว. ในทุกด้านเพื่อร่วมผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทย ก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งดิฉันเชื่อว่าด้วยศักยภาพของ สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านมาตรฐานของประเทศ ได้บูรณาการความร่วมมือกับ สวทช. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบกับศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ที่กระทรวง อก. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ จะร่วมเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เกิดผลสำเร็จได้ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ สร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และทำให้ไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ด้วย

ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า นี่คือโอกาสอันสำคัญในการเดินหน้าความร่วมมือกันระหว่าง สวทช.และ สมอ. ในการพัฒนายกระดับมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ การส่งเสริมให้เกิดการสนับสนุนการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างกัน และอีกโอกาสสำคัญหนึ่งของสวทช. คือการเปิดตัวศูนย์ความเป็นเลิศด้านยานยนต์ไฟฟ้าประเทศไทย หรือ TECE โดยศูนย์นี้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวง อว. ดำเนินการโดย สวทช. ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าของไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยกลไกของ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในประเทศและสร้างความสามารถทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ศูนย์ TECE มีพันธกิจ 4 ข้อ ได้แก่ 1.ดำเนินการพัฒนางานวิจัยด้านชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้า และอุปกรณ์ความปลอดภัยในการใช้รถและถนนที่ร่วมกับผู้ประกอบการไทยเพื่อให้เกิดการผลิตในประเทศ 2.พัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าในประเทศ 3.เชื่อมโยงเครือข่ายการให้บริการวิเคราะห์และทดสอบยานพาหนะไฟฟ้าและชิ้นส่วนร่วมกับพันธมิตรหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 4.บริการให้คำปรึกษาและจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเพื่อการออกแบบ และพัฒนาชิ้นส่วนยานพาหนะไฟฟ้าให้แก่ผู้ประกอบการไทย

นอกจากนี้ TECE ยังได้รับความร่วมมือจาก Chairman and Party Secretary of China Automotive Engineering Research Institute (CAERI) ซึ่งเป็นหน่วยงานชั้นนำด้านการวิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศจีน อันเป็นอีกที่มาของพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ CAERI ในครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนศูนย์ TECE ในเรื่องเทคโนโลยีการวิเคราะห์ทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาในอนาคต

วันชัย กล่าวว่า สมอ. ยินดีที่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล สมอ. ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ได้กำหนดมาตรฐานเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว จำนวน 159 มาตรฐาน รวมทั้งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานโลกแห่งแรกในอาเซียน รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก ซึ่งพร้อมเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569