การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและสังคมโดยรวม ระบบการศึกษาที่ดีควรเป็นการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกคนอย่างเท่าเทียม สร้างคนให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะ และมีความคิดดี พร้อมที่จะเติบโตไปในโลกแห่งอนาคตอย่างมีคุณภาพ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP - Thailand Education Partnership) เปิดเวทีสาธารณะระดับประเทศ TEP Forum 2024 “สร้างประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้ : เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ” รวมพลังภาคีในแวดวงการศึกษา กูรูผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการชั้นนำ เครือข่ายพัฒนาครู โรงเรียน คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน เปิดพื้นที่พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมออกแบบ แสดงพลังและส่งเสียง สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยและขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมการเรียนรู้อย่างไร้รอยต่อ
นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) กล่าวว่า “TEP มุ่งมั่นปฏิรูปการศึกษาไทย ด้วยความเชื่อว่าการพัฒนาการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคน โดยสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันและรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นเสียงสะท้อนถึงความต้องการจากผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เผชิญกับปัญหาจริงไปยังผู้กำหนดนโยบาย อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การพัฒนาการศึกษาต้องทำอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงทุกระบบการศึกษา และทุกภาคส่วน โดยยึดผู้เรียนเป็นหลัก เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยความเสมอภาค และสร้างสมรรถนะให้คนไทยทุกคนเรียนรู้ได้อย่างไร้รอยต่อ”
ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แชร์ไอเดียน่าสนใจว่า “การสร้างสรรถนะคนไทยให้เรียนรู้อย่างไร้รอยต่อ ต้องเริ่มจาก 1. การปรับหลักสูตรเพื่อสร้างสมรรถนะ เนื่องจากปัจจุบันหลักสูตรไทยเน้นความรู้มากกว่าสมรรถนะ เน้นท่องจำมากกว่าคิดขั้นสูง และไม่ได้ปรับใหญ่มา 16 ปีแล้ว ขณะที่สิงคโปร์มีการปรับหลักสูตรทุก 6 ปี และฟินแลนด์ปรับทุก 10 ปี 2. สร้างการประเมินสมรรถนะที่เชื่อถือได้ 3. ลดภาระงานครูที่ไม่ใช่การสอนเพื่อคืนเวลาให้ครูสอนนักเรียนและพัฒนาตัวเองได้เต็มที่ 4. สร้างแรงจูงใจให้ครูและผู้อำนวยการอยู่ประจำอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้การพัฒนาโรงเรียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 5. กระจายอำนาจจัดการศึกษา 6. สร้างแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน และ 7. นำเทคโนโลยีเอไอมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ โดยสิ่งสำคัญคือ การศึกษาต้องทำให้เด็กเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ ต้องทำให้เด็กกล้าลองผิดลองถูกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง”
ต่อด้วย ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นว่า “ระบบการศึกษาที่ดีจะต้องตอบสนอง 3 เป้าหมายหลักคือ การพัฒนาทักษะ-สมรรถนะ ความเสมอภาค และความสุขของผู้เรียน ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ต้องเริ่มจากการจัดทำ พ.ร.บ. การศึกษาฉบับใหม่ที่เป็นหมุดหมายสำคัญเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง รวมถึงหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการจัดทำไปแล้วในระดับหนึ่ง เพียงแต่อาจจะต้องนำมาปัดฝุ่น ประกาศใช้ และมีกลไกในการทบทวนหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้งบประมาณที่จะลงทุนกับการศึกษาต้องมีความคุ้มค่า ต้องเน้นไปที่การเรียนรู้ทั้งกับครูและผู้เรียนอย่างแท้จริง แพลตฟอร์มการเรียนรู้ต้องมีความเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำและซ้ำซ้อนกัน รวมถึงปัญหาการเรียนรู้ในปัจจุบันอยู่ในภาวะ ‘ผู้เรียนไม่ได้เลือก ผู้เลือกไม่ได้เรียน’ เป็นหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนไม่มีความสุขและไม่สนุกไปกับการเรียนรู้”
ปิดท้ายที่ เอ๋ - สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ครีเอทีฟโฆษณา ผู้กำกับโฆษณา นักเขียน (นามปากกา “นิ้วกลม”) ร่วมแบ่งปันมุมมองการศึกษาไทยว่า “ปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนมาก ถ้าจะเปลี่ยนจริง ๆ อาจจะต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง รวมถึงต้องเป็นการเรียนรู้เพื่อมีความสุขและทำให้ผู้อื่นมีความสุข เรียนเพื่อที่จะสร้างชีวิตตัวเราให้ดีขึ้น สร้างสังคมให้ดีขึ้น และสร้างโลกให้ดีขึ้นด้วย การศึกษาไทยควรได้รับการปรับเปลี่ยนทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตรจากการแข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่ง มาเป็นการร่วมมือ รับฟัง และแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างกัน ซึ่งในปัจจุบัน โลกกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อยู่ที่ว่าผู้กำหนดนโยบายจะให้ความสำคัญมากแค่ไหน เพราะทุกคนเป็นได้ทั้งผู้เรียนและผู้สอน รวมถึงเสรีภาพทางความคิดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกันได้ จนกลายเป็นวัฒนธรรมในสังคมจะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา”
การผนึกกำลังของภาคีเพื่อการศึกษาไทยที่มาร่วมกันส่งเสียงสะท้อนและออกแบบอนาคตการศึกษาไทยในเวที TEP Forum 2024 จะสร้างแรงกระเพื่อมและเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้ เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ ยกระดับการศึกษาไทยให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก