3 ก.ค. 2567 389 18

ทรู ล้ำได้อีก! โชว์ทดสอบ 'LIVE - Cell Broadcast Service' แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา ผู้ใช้งานในพื้นที่ได้รับแจ้งเตือนจริง

ทรู ล้ำได้อีก! โชว์ทดสอบ 'LIVE - Cell Broadcast Service' แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา ผู้ใช้งานในพื้นที่ได้รับแจ้งเตือนจริง

ครั้งแรกในไทย ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับ กระทรวงดีอี - กสทช. - ปภ. - หน่วยงานรัฐ โชว์ทดสอบเสมือนจริง 'LIVE - Cell Broadcast Service' 5 ภาษา ได้ใช้จริงต้นปี 68


ทรู คอร์ปอเรชั่นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกสทช. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมทดสอบเสมือนจริง "LIVE - Cell Broadcast Service" แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา ให้ผู้ใช้งานทรู-ดีแทคในพื้นที่ได้รับแจ้งเตือนจริง โดยในงานแถลงข่าว ผู้สื่อข่าว ได้รับข้อความแจ้งเตือนจริง (เป็นการทดสอบ) นอกจากนี้ ทรู ยังเปิดให้สื่อมวลชนได้สัมผัสกับ BNIC ศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะทรู รองรับภัยทุกสถานการณ์


บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดการทดสอบล้ำหน้าไปอีกระดับกับ "LIVE - Cell Broadcast Service" ผ่านเสาสัญญาณจริง ให้ผู้ใช้งานมือถือทั้งทรู และดีแทคในพื้นที่ได้รับประสบการณ์แจ้งเตือนภัยจริงครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเยี่ยมชมและให้เกียรติในการร่วมทดสอบโดย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ที่อาคารทรู ทาวเวอร์ รัชดาภิเษก เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมของระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน นำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเตือนภัยสำหรับประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมชูหมัดเด็ดศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ BNIC พร้อมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทรู คอร์ปอเรชั่นใช้เป็นศูนย์กลางบริหารจัดการกรณีเกิดภัยพิบัติ 24 ชั่วโมง


มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "เรามีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้พัฒนาระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS ไปอีกขั้นด้วยการนำมาทดสอบการใช้จริง ซึ่งเป็นระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินที่ทั่วโลกใช้งานที่สามารถส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้บริการทุกเครื่อง ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยพร้อมกันทันที และแม่นยำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ระบบ CBS จะมีทั้งสัญญาณเสียง และข้อความที่แสดง (Pop up) บนหน้าจอ และรองรับ Text to Speech เทคโนโลยีช่วยเหลือที่อ่านออกเสียงข้อความทำให้มีประโยชน์ต่อการแจ้งเตือนแก่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นอีกด้วย”


ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยประสบภัยพิบัติทั้งจากภัยธรรมชาติ อุบัติภัย และภัยจากคนร้าย ส่งผลให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ยิ่งทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงและถี่ขึ้น โดยปัจจุบันเราเข้าสู่ยุค “โลกเดือด” หรือ “Global Boiling” ซึ่งอาจนำมาสู่ภัยคุกคามและผลกระทบที่คาดไม่ถึง


ด้วยความตระหนักถึงภัยคุกคามเหล่านี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านเลขหมาย จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา ในการพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service หรือ CBS ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน โดยทรู คอร์ปอเรชั่นทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2567  โดยมีจุดเด่นสำคัญหลายประการ ได้แก่ 

  • รองรับทุกภาษา: ระบบสามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษาและออกแบบส่งพร้อมกันได้ทันที โดยทดสอบแล้ว 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย 
  • รวดเร็ว: สามารถส่งข้อความเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วทันทีที่เกิดเหตุ
  • แม่นยำ: สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งข้อความได้อย่างแม่นยำ
  • ครอบคลุม: สามารถส่งข้อความถึงผู้ใช้บริการทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า
  • น่าเชื่อถือ: เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก


มนัสส์ กล่าวต่อไปว่า "การพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service นี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 11 ว่าด้วยการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน" 


ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ของทรู คอร์ปอเรชั่นสามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย:

1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert): การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert): การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น

3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert): ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัวเพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวังและช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตุการณ์และรายงานถ้าพบคนหายหรือคนร้าย

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety): ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert): ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป


นอกจากนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นยังได้พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากกว่า 50 ล้านเลขหมาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบ CBS ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


"ทรู คอร์ปอเรชั่นมีความเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจะสามารถสร้างสังคมที่ปลอดภัยและพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเตือนภัยของประเทศไทย เราหวังว่าระบบนี้จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต" มนัสส์ กล่าวในที่สุด


การทดสอบอีกระดับของ "LIVE - Cell Broadcast Service" ที่แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือกับผู้ใช้งานจริงครั้งแรกในไทยโดยทรู คอร์ปอเรชั่น นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเตือนภัยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อประเทศไทยในระยะยาว

ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน “Cell Broadcast Service” ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย

ในการทดสอบเสมือนจริงนี้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานในพิธีเปิดการทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือเสมือนจริง ครั้งแรกในประเทศไทยกับ "LIVE - Cell Broadcast Service" โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด เข้าร่วมงาน

นอกจากนี้สื่อมวลชนได้เป็นสักขีพยาน ได้สัมผัสประสบการณ์จริงแล้ว ยังเป็นการสื่อสารการแจ้งเตือนในประเทศไทย ที่กำลังจะมีจริงๆ ในปี 68 ที่จะถึงนี้


ทั้งนี้ รมว.ประเสริฐ กล่าวในการปาฐกถาพิเศษการพัฒนา “Cell Broadcast” ว่า ระบบ Cell Broadcast เป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ ด้านสาธารณะภัยของประเทศ ทั้งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์  ช่วยสร้างความมั่นคงปลอดภัย และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย 

ทั้งนี้กระทรวง ดีอี เห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  โดยมุ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ จากในอดีตที่การแจ้งเตือนภัยส่วนใหญ่จะใช้วิธีส่งข้อความ SMS ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและกังวลว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ 

ดังนั้นกระทรวง ดีอี จึงได้จัดทำโครงสร้างพื้นฐานกลาง (Infrastructure) ให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ใช้เตือนภัยเฉพาะพื้นที่ โดยผ่านระบบ Cell Broadcast เพื่อแจ้งให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ ได้รับทราบ โดยข้อความจะปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอมือถือทันที ซึ่งสามารถตั้งระดับความรุนแรงของภัยได้ตามความเร่งด่วน และความจำเป็น ถึง 5 ระดับ อาทิ การเตือนระดับ PM 2.5 ที่เป็นอันตรายเฉพาะพื้นที่ ไปจนถึงเหตุการณ์ใหญ่ระดับภูมิภาคอย่างพายุ  น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม  หรือ การวางระเบิด ซึ่งสามารถปรับเสียง และการแจ้งเตือนได้ตามความเหมาะสม  


โดยระบบนี้สามารถปรับแต่งให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน เช่น  คนไทย จีน หรือ ชาวต่างชาติ โดยสามารถแสดงผลในภาษาที่ผู้ใช้งานเข้าใจได้ถึง 5 ภาษา ภายในครั้งเดียว


อย่างไรก็ตามแม้ระบบ Cell Broadcast จะมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก  แต่เนื่องจากเป็นระบบใหม่ในประเทศไทย จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการเรื่องอุปกรณ์และการติดตั้งทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2568  ซึ่งเมื่อระบบพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ ประชาชนทั่วประเทศจะได้รับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และปลอดภัยยิ่งขึ้น