3 ก.ค. 2567 219 0

มูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. จัดอบรมหลักสูตรนานาชาติ

มูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. จัดอบรมหลักสูตรนานาชาติ

การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมบนพื้นที่สูง


พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรนานาชาติ Mainstreaming Leaving No One Behind in Sustainable Highlands Development ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อ.เมือง จ.เชียงใหม่


การจัดอบรมหลักสูตรนานาชาติในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 28 มิถุนายน 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจาก 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา คีร์กีซสถาน สปป.ลาว เมียนมา เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และประเทศไทย ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักการพัฒนาแบบโครงการหลวง การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาพื้นที่สูง และการพัฒนาที่ครอบคลุมกลุ่มคนด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่


ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ โครงการหลวงซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแห่งแรกของประเทศ ได้มุ่งลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนบนพื้นที่สูงที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร และมีฐานะยากจน ให้ได้รับโอกาสโดยนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้จากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์กว่า 300 ชนิด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การต่อยอดภูมิปัญญาชนเผ่าเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ รวมทั้งการบูรณาการหน่วยงานในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นกับชุมชน  การพัฒนาแบบโครงการหลวงจึงเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ด้วยการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง ให้เข้าถึงความรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการเสริมสร้างให้กลุ่มคนทั้งที่เป็นวัยทำงาน เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ ให้มีศักยภาพและบทบาทที่สมวัย


สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่นำรูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศที่มีจำนวน 4,205 กลุ่มบ้าน ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายการเรียนรู้ ในระยะปี พ.ศ.2566-2570 ที่ไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงที่ห่างไกล แต่ยังมุ่งมั่นที่จะขจัดความยากจนทุกรูปแบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ

#LNOB #inclusiveness