8 ก.ค. 2567 188 0

ดีอี เผย 'แอปดูดเงิน' เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ร้ายแรง สกัดโจรออนไลน์ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ

ดีอี เผย 'แอปดูดเงิน' เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ร้ายแรง สกัดโจรออนไลน์ ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.)


พร้อมด้วย ผู้แทนผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้แทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้แทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยที่ประชุมมุ่งเดินหน้ารับมือภัยคุกคามไซเบอร์ในระดับร้ายแรง เน้นย้ำแก้ไขปัญหาแอปดูดเงิน หารือหน่วยงานเกี่ยวข้อง ยกระดับมาตรการเข้มงวดสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน


จากกรณีที่มีกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนโดยการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อขโมยเงินหรือที่เรียกว่าแอปดูดเงิน (Mobile Banking Trojan) โดยใช้กระบวนการทางไซเบอร์ทำให้สูญเสียเงินจำนวนกว่า 2,600 ล้านบาท (สถิติระหว่างวันที่ 1  มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567) นับเป็นภัยไซเบอร์ระดับร้ายแรง


แต่ปัจจุบันการป้องกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความล่าช้า ประเสริฐ จันทรรวงทอง จึงได้ประกาศยกระดับจัดให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดจากแอปดูดเงิน เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง จึงมีข้อสั่งการให้ สกมช. ร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงอย่างทันท่วงที อาทิ ระงับการเชื่อมต่อไปยังแอปดูดเงิน ตัดวงจรการเชื่อมต่อระบบการควบคุมของมิจฉาชีพ และหยุดการโอนเงินของมิจฉาชีพผ่านระบบ Mobile Banking รวมทั้งการป้องกันประชาชนไม่ให้ถูกหลอกติดตั้งแอปดูดเงิน ก่อนเกิดความเสียหายแก่ประชาชน เป็นปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในการใช้บริการทางการเงินออนไลน์ให้ประชาชน