17 ก.ค. 2567 6,951 4

รมว.ดีอี ตั้งทีมปราบ 'เฟคนิวส์' เร่งรัดสกัดข่าวปลอม 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ตามข้อสั่งการนายกฯ

รมว.ดีอี ตั้งทีมปราบ 'เฟคนิวส์' เร่งรัดสกัดข่าวปลอม 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ตามข้อสั่งการนายกฯ

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเร่งรัดปราบปรามข่าวปลอม (Fake News) ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ต้องการให้เร่งรัดปราบปรามข่าวสารและข้อมูลอันเป็นเท็จบนสื่อโซเซียลมีเดีย และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อบุคคล และโครงการสำคัญของรัฐบาล โดยมีนายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวง ดีอี นายสุทธิเกียรติ วีระกิจพานิช ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ ดีอี  นายวัลลภ รุจิรากร เลขานุการรัฐมนตรี ฯ ดีอี พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ พ.ต.อ.ประดิษฐ์ เปการี รองผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าร่วมหารือ  ณ ห้องประชุม CB 304  อาคารรัฐสภา



ประเสริฐ เปิดเผยว่า ตามที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวง ดีอี เร่งรัดการปราบปรามเฟคนิวส์ หรือ ข่าวปลอม ที่ปัจจุบันมีการเผยแพร่ข่าวปลอม บิดเบือน สร้างความเสียหายโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย  โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต กระทรวง ดีอี จึงได้ร่วมหารือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) บช.สอท. และ บก.ปอท. เพื่อกำหนดมาตรการเร่งรัดการปราบปรามข่าวปลอม



โดยมีประเด็นสำคัญในการหารือดังนี้

1. จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวสารและข้อมูลที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย พร้อมดำเนินการโต้ตอบ / ชี้แจงข้อเท็จจริงในทันทีตามความเหมาะสม เมื่อได้มีการตรวจสอบพบว่าเป็นข่าวปลอม / ข้อมูลผิด /ข้อเท็จจริง โดยให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้สามารถร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้

2. เพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข้อเท็จจริงให้มีความครอบคลุมกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยให้ประสานขอความร่วมมือจากสื่อของหน่วยงานรัฐ และสื่อเอกชน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

3. ประสานงานความร่วมมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ที่พบว่ามีการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อทำการตรวจสอบ และปิดกั้น

“ข่าวปลอม ถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สร้างผลกระทบและความเดือดร้อนต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งทำให้ประชาชนมีความเข้าใจผิด บิดเบือนจากข้อมูลจริง โดยเฉพาะในขณะนี้ที่รัฐบาลกำลังดำเนินโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมิจฉาชีพได้อาศัยความสนใจของประชาชนต่อโครงการดังกล่าวเป็นช่องทางในการสร้างข่าวปลอม เพื่อก่ออาชญากรรมออนไลน์  ดังนั้น กระทรวง ดีอี จึงร่วมกับ ตร. ตรวจสอบข่าวปลอมที่เข้าข่ายการกระทำความผิดอย่างเคร่งครัด โดยจัดตั้งเป็นคณะทำงานตรวจสอบเป็นประจำทุกวัน เพื่อดำเนินการระงับยับยั้งข่าวปลอม และดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จอย่างจริงจัง” รมว.ประเสริฐ กล่าว



สามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) หรือ Line ID: @antifakenewscenter | เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com