17 ก.ค. 2567 155 0

รมว.ดีอี รับหนังสือ 'วิทยุชุมชน' พร้อมช่วยเร่งผลักดัน ร่างกฎหมายฯ แก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชน

รมว.ดีอี รับหนังสือ 'วิทยุชุมชน' พร้อมช่วยเร่งผลักดัน ร่างกฎหมายฯ แก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชน

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) รับยื่นหนังสือ วรพจน์ ลัภโต ประธานชมรมผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชน กรณี ขอให้เร่งรัดการพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่เกี่ยวข้อง ณ  บริเวณ ลานชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ


ประเสริฐ เปิดเผยว่า จากการร่วมพูดคุยกับตัวแทนชมรมผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชน พบว่าผู้ประกอบการวิทยุภาคประชาชน ได้ขอให้มีการเร่งพิจารณา ร่างแก้ไข พ.ร.บ. ว่าด้วยการประกอบการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... โดยมีสาระสำคัญใน 2 ประเด็น ที่ผู้ประกอบวิทยุภาคประชาชน เห็นว่ามีผลกระทบ ดังนี้

1.ร่างมาตรา 7 ให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อมให้เป็นผู้มีคุณสมบัติในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง หรือกิจการโทรทัศน์ ประเภทบริการชุมชนประเภทวิทยุ ภาคประชาชน การหารายได้ และการสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ และกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง ประเภทบริการชุมชนสามารถมีรายได้จากการบริจาค การอุดหนุนหรือทางอื่น เพื่อให้เพียงพอต่อการบริหารจัดการสถานีวิทยุ โดยไม่เน้นการแสวงหากำไร 

2.ร่างมาตรา 8 กำหนดอำนาจปรับทางปกครองกรณีผู้ประกอบกิจการวิทยุภาคประชาชน กิจการบริการชุมชุน หรือวิทยุที่ส่งกระจายเสียงด้วยกำลังส่งไม่เกินหนึ่งกิโลวัตต์ ได้รับคำสั่งให้ระงับการดำเนินการในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแล้วไม่ปฏิบัติตามให้ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท และปรับวันละไม่เกินหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง


สำหรับกรณีของการขอให้รัฐบาลผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่สำหรับวิทยุกระจายเสียงประเภทธุรกิจ ที่ออกอากาศ 500 วัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3,000 สถานี ให้สามารถออกอากาศต่อไป และจัดให้วิทยุทดลองออกอากาศในขณะนี้ เปลี่ยนไปวิทยุภาคประชาชนเพื่อให้ออกอากาศได้ต่อเนื่องหลังจากสิ้นปี 2567 


ในส่วนของประเด็นนี้ ทาง กสทช.ได้กำหนดระยะเวลาในการสิ้นสุดการออกอากาศไว้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 และกลุ่มผู้ทดลองออกอากาศ เกรงว่าการดำเนินงานจะไม่ทันตามกรอบเวลา จึงขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการผลักดันการแก้กฎหมายให้แล้วเสร็จทันตามกำหนด ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ และเป็นความเดือดร้อนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการวิทยุภาคประชาชนเช่นเดียวกัน โดยผมขอพิจารณารายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ พร้อมทั้งเร่งหารือร่วมกับรัฐบาล กสทช. และสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะสามารถเร่งผลักดันได้อย่างไร


“กระทรวงดีอี พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในทุกภาคส่วน ซึ่งในกฎหมายฉบับแรกนั้น ผมจะเร่งพิจารณาโดยเร็ว พร้อมทั้งประสานงานร่วมกับตัวแทนของผู้ประกอบการวิทยุภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการเร่งผลักดัน โดยจะเร่งรัดให้ทันในคราวประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2567 สมัยนี้ ขณะที่ฉบับที่ 2 นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้เวลาในการพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบ อย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้ง 2 ฉบับอยู่ในความดูแลของ กสทช. ซึ่งกระทรวงดีอีจะร่วมหารือในกรณีนี้กับ กสทช. รัฐบาล รวมทั้ง สภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเยียวยาและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน” รมว.ประเสริฐ กล่าว