26 ก.ค. 2567 464 24

TikTok เปิดตัว #คนไทยรู้ทัน ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ ผนึก ดีอี พร้อมพันธมิตรภาครัฐและสังคม รับมือมิจฉาชีพออนไลน์

TikTok เปิดตัว #คนไทยรู้ทัน ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ ผนึก ดีอี พร้อมพันธมิตรภาครัฐและสังคม รับมือมิจฉาชีพออนไลน์

TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นชั้นนำระดับโลก ซึ่งมีพันธกิจหลักในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์และมอบความสุขให้กับผู้คน แสดงจุดยืนในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับผู้ใช้ผ่านการเปิดตัว #คนไทยรู้ทัน ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ (Anti-Scam Digital Literacy Hub) เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงและฉ้อโกงทางออนไลน์แห่งแรกในไทยบนแพลตฟอร์ม พร้อมผนึกกำลังภาครัฐและประชาสังคมกว่า 8 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (OCPB), ธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT), กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (SEC), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), โครงการโคแฟค (COFACT), และสภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ผ่านแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน ติดอาวุธทางความคิด พร้อมปลุกกระแสให้คนไทยรู้เท่าทันและสามารถรับมือกับปัญหาการถูกหลอกลวงบนโลกออนไลน์ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างมั่นคง


"TikTok เชื่อว่าการสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการมอบองค์ความรู้ด้านดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับผู้ใช้งานเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง เราได้ทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้แพลตฟอร์มของเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์สำหรับผู้ใช้งานทุกคน ความร่วมมือภายใต้แคมเปญ #คนไทยรู้ทัน มีจุดประสงค์เพื่อมอบพื้นที่ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการรับมือจัดการภัยออนไลน์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับผู้ใช้แพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งครอบคลุมทุกเพศ ทุกวัย ทั่วประเทศไทย ในการสื่อสารเพื่อเตือนภัยและเสริมทักษะการรับมือกับกลโกงของมิจฉาชีพในยุคดิจิทัลที่มาในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อเสริมเกราะป้องกันภัยออนไลน์ให้แก่ชาวไทยและร่วมสร้างอนาคตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นบนสังคมออนไลน์" ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy - TikTok, Thailand กล่าว



ในปัจจุบัน ปัญหาการฉ้อโกงออนไลน์ได้สร้างความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ยังขาดความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ จากรายงานของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เผยว่าปัจจุบันมีคดีหลอกลวงและการฉ้อโกงกว่า 700 คดีต่อวัน โดย 40% เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางอีคอมเมิร์ซ [1] และล่าสุด สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดตัวเลขการร้องเรียนปัญหาออนไลน์ของศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ในครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน 2567) พบปัญหาร้องเรียนออนไลน์แล้ว 19,960 กรณี โดยเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือปัญหาซื้อขายออนไลน์ (43.44%) รองลงมาคือปัญหาเว็บไซต์ผิดกฎหมาย (31.27%) และปัญหาอื่นๆ (25.29%) จะมีทั้งในเรื่องปัญหาการหลอกลวงลงทุน หลอกให้ทำงานออนไลน์ และปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฯลฯ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับทั้งบุคคลและธุรกิจขนาดเล็กเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ธุรกิจหลายรายยังถูกโจมตีทางไซเบอร์ ทำให้ข้อมูลสำคัญถูกขโมยและนำไปสู่ช่องทางการเข้าถึงเป้าหมายในการหลอกลวงอย่างง่ายดาย เนื่องจากปัญหาดังกล่าวได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเหล่ามิจฉาชีพยังมีการพัฒนากลเม็ดการหลอกลวงใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา การรู้เท่าทันกลโกงจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อปกป้องผู้บริโภคและเสริมสร้างความมั่นคงในโลกดิจิทัลอย่างยั่งยืน

สำหรับแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน ถือเป็นการร่วมมือเชิงกลยุทธ์ของ TikTok กับพันธมิตรที่มุ่งเน้นไปที่การสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ความรู้ตามความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน โดยหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องการบังคับใช้กฏหมายและมาตรการเพื่อป้องกันและรับมือกับมิจาชีพออนไลน์ ทางด้านภาคประชาสังคมในฐานะผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ให้ความรู้ด้านสิทธิ์และการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน ที่ TikTok เป็นแกนนำในการนำทัพครีเอเตอร์ที่มีอิทธิพลบนแพลตฟอร์มเข้ามาเป็นกระบอกเสียงในการเตือนภัยและสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ใช้ เพื่อส่งสารที่สำคัญและเป็นประโยชน์ไปถึงกลุ่มผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งครีเอเตอร์เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยในการสร้างคอนเทนต์บนแคมเปญที่สนุกสนานและเข้าใจง่าย แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ สอดคล้องกับรายงาน The TikTok Effect: Accelerating Southeast Asia’s Business, Education, and Community Report 90% ของผู้ใช้ TikTok ได้รับความรู้และทักษะใหม่บนแพลตฟอร์ม



ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า "การสร้างความตระหนักรู้และภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัลให้กับประชาชนถือเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญของการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์อย่างยั่งยืน เมื่อภาคประชาชนมีความเข้มแข็ง ทุกคนย่อม 'รู้ทัน' ภัยออนไลน์ต่างๆ ทำให้โอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงออนไลน์น้อยลง และสามารถช่วยภาครัฐจัดการกับผู้ไม่หวังดีได้ ทางกระทรวงฯ ขอชื่นชมความมุ่งมั่นของพันธมิตรทุกๆ ภาคส่วน ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้แก่ประชาชนในตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสานต่อความร่วมมือต่อไปในอนาคต"



ดีอี ผนึกกำลัง Tik Tok และหน่วยงานพันธมิตร เปิดตัว #คนไทยรู้ทัน สร้างภูมิคุ้มกันคนไทย รับมือภัย “โจรออนไลน์”

โครงการ “ #คนไทยรู้ทัน ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ (Anti-Scam Digital Literacy Hub) ” ซึ่งจัดขึ้นโดย Tik Tok ,Thailand  โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวง ดีอี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โครงการโคแฟค (COFACT) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) เข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการ

ประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ถือเป็นปัญหาสำคัญ ที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนในสังคมไทยเป็นวงกว้าง โดยกระทรวง ดีอี ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เร่งรัดการปราบปรามและป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ พร้อมกับการขอความร่วมมือผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ในการแจ้งเบาะแส และเฝ้าระวังการกระทำของมิจฉาชีพที่อาศัยช่องทางโซเชียลมีเดียในการก่ออาชญากรรมออนไลน์


ขณะเดียวกัน กระทรวง ดีอี ได้ดำเนินการสร้างความตระหนักรู้และภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัลให้กับประชาชนในช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ  โดยตระหนักถึงความสำคัญของการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ในการให้ความรู้และวิธีป้องกันภัยออนไลน์ ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มประชาชนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากการหารือร่วมกับ TikTok , Thailand และหน่วยงานพันธมิตร จึงนำไปสู่การจัดโครงการ #คนไทยรู้ทัน และทาง TikTok ได้จัดตั้ง ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ (Anti-Scam Digital Literacy Hub) เพื่อดำเนินการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ความรู้ วิธีการป้องกันตัวจากภัยออนไลน์ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นการใช้งานเทคโนโลยีให้กับประชาชน ยกระดับมาตรฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัล

“กระทรวง ดีอี ได้เน้นย้ำถึงหลักการป้องกันภัยทางออนไลน์ การหลอกลวงโอนเงิน หรือหลอกลวงข้อมูลส่วนบุคคล โดยใช้หลัก 4 ไม่ คือ 1.ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการผลิตเป็นคอนเทนต์เผยแพร่ทาง TikTok แล้ว นอกจากนี้ ยังพร้อมช่วยเหลือผู้เสียหายในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ และอายัดบัญชี โดย ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ โทรสายด่วน AOC 1441 ตลอด 24 ชม.

อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ ได้ที่ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.) Line ID: @antifakenewscenter หรือ เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com รวมทั้งยังมอบหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เปิดช่องทางให้ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสบัญชีม้า ผ่านโทรสายด่วน 1212 ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ พร้อมรับปรึกษาปัญหาทางธุรกรรมออนไลน์ทุกประเภท” ประเสริฐ กล่าว       

     

รับแจ้ง ตรวจสอบ และปราบปรามอย่างเข้มงวด

ในฐานะหน่วยงานหลักผู้บังคับใช้กฏหมายและการสืบสวนสอบสวนคดีฉ้อโกงทางออนไลน์ ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเน้นย้ำถึงหลักการป้องกันโกง 4ไม่: ไม่กดลิงก์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน และทางกระทรวงฯ ยังพร้อมช่วยเหลือผู้เสียหายในการรับเรื่องร้องเรียนและอายัดบัญชีของคนร้ายผ่านศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 ตลอด 24 ชม. นอกจากนี้ยังมอบหมายสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในการกำกับดูแลช่องทาง call center 1212 ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ที่มีส่วนช่วยปรึกษาปัญหาทางธุรกรรมออนไลน์ และแจ้งเบาะแสบัญชีม้า อีกทั้งผลักดันให้ประชาชนร่วมแจ้งเบาะแสบัญชีม้า พร้อมออกโรงเตือนประชาชนในการหลีกเลี่ยงการเปิดบัญชีม้าซึ่งเอื้อต่อกลุ่มมิจฉาชีพในการฉ้อโกงออนไลน์ สำหรับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้ามามีส่วนร่วมสืบสวนสอบสวน ปราบปรามมิจฉาชีพออนไลน์และบัญชีม้าเป็นภารกิจหลัก โดยมีการจับและดำเนินคดีจริงมาแล้วนับไม่ถ้วน ด้วยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานเหล่านี้ แต่ละหน่วยงานมีความมุ่งมั่นที่จะกระจายความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ภาคประชาชนผ่านแพลตฟอร์มแนวหน้าอย่าง TikTok เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนในยุคดิจิทัลไม่ให้เกิดความเสียหายจากมิจฉาชีพ

สารพัดกลหลอก คนไทยต้องรู้ทัน

การหลอกลวงให้ทำธุรกรรมทางการเงินด้วยกลโกงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลอกกู้เงิน หลอกลงทุน หรือหลอกให้รักเพื่อลักทรัพย์ เป็นอีกประเด็นที่สำคัญในแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงเข้ามามีบทบาทในการให้ความรู้และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับภัยคุกคามเหล่านี้ โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการ 'เช็คให้ชัวร์' เช่นการตรวจสอบผู้ให้บริการสินเชื่อว่าเป็นตัวจริง ด้วยการตรวจสอบกับต้นสังกัดผู้ให้บริการ หรือในด้านการลงทุน ควรตรวจสอบผู้ให้บริการลงทุนว่าเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือปรึกษาและแจ้งเบาะแสหลอกลงทุนปลอมได้ที่สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน ก.ล.ต. โทร 1207 กด 22 พร้อมย้ำเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่มาพร้อม SMS เบอร์แปลกหน้า ในขณะเดียวกัน โครงการโคแฟคที่ยืนหยัดบนบทบาทการเป็นพื้นที่ตรวจสอบข่าวลวง ยังได้ตอกย้ำถึงความจำเป็นของการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบในยุคแห่งสื่อดิจิทัล ที่ผู้ประสงค์ร้ายสามารถเข้าถึงและหลอกลวงประชาชนได้อย่างง่ายดาย ไม่ให้หลงเชื่อข้อมูลเท็จและสารพัดกลลวงที่อาจสร้างความเสียหายให้กับตนเอง

เมื่อตกเป็นเหยื่อ ยังมีหน่วยงานยืนหยัดพร้อมคุ้มครอง

การคุ้มครองผู้บริโภคนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ในความร่วมมือครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ร่วมมอบความรู้เกี่ยวกับแนวทางปฎิบัติเมื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ รวมถึงกรณีของผู้บริโภคที่ได้รับสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม แนะผู้บริโภคให้เก็บรวบรวมหลักฐานตั้งแต่การสั่งซื้อจนกระทั่งการเปิดสินค้า หากได้รับสินค้าที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1166 หรือผ่านทาง www.ocpb.go.th สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมุ่งหวังให้ผู้บริโภคได้รับประสบการณ์ที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้จากการช้อปปิ้งออนไลน์ อีกทั้งยังยืนหยัดติดตามและต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของผู้บริโภค


"COFACT เชื่อว่าความสามารถในการแยกแยะข้อมูลอันเป็นเท็จเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อมออนไลน์ที่ปลอดภัย ซึ่งความร่วมมือของเรากับ TikTok และพันธมิตรทุกราย ผ่านแคมเปญ #คนไทยรู้ทัน ถือเป็นก้าวสำคัญในการมอบความรู้และเครื่องมือที่จำเป็นให้กับผู้ใช้ชาวไทยในการท่องโลกดิจิทัลอย่างปลอดภัย ช่วยสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเราในการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน เรามุ่งหวังที่จะร่วมสร้างคอมมูนิตี้ที่เข้มแข็งที่สามารถรับมือกับกลโกงต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ เพื่อให้เกิดสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีข้อมูลที่ถูกต้องยิ่งขึ้น" สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าว

TikTok ตั้งเป้าให้แคมเปญ #คนไทยรู้ทัน เป็นศูนย์ข้อมูลความรู้ดิจิทัลที่ครอบคลุมและครบถ้วน เพื่อปลุกกระแสการตระหนักรู้ของคนไทยเกี่ยวกับปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มได้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและรับมือกับปัญหากลโกงบนสังคมออน์ไลน์ในรูปแบบต่างๆ ด้วยการนำเสนอวิธีการรับมืออย่างสร้างสรรค์ผ่านคอนเทนต์วิดีโอสั้นที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัยบนแพลตฟอร์ม TikTok ทั้งนี้ TikTok ยังวางเป้าหมายระยะยาวในการสร้างพื้นที่ดิจิทัลที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมบนแพลตฟอร์มที่เอื้อประโยชน์ต่อครีเอเตอร์ แบรนด์ และธุรกิจต่างๆ ให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งคอนเทนต์ที่เชื่อถือได้สำหรับทุกคน



TikTok พร้อมเดินหน้าร่วมมือกับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นในโลกดิจิทัล ทั้งนี้ ทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ได้ ผ่านการแชร์คอนเทนต์ไอเดียต่อกรกับกลโกงต่างๆ พร้อมติดแฮชแท็ก #คนไทยรู้ทัน บน TikTok ซึ่งคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาดีเด่นและโดนใจจะได้รับรางวัลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาทิเช่น iPhone 15 Pro Max, Apple Watch และ iPad Air M2 ได้ตั้งแต่ 26 กรกฎาคม - 9 สิงหาคม 2567 และประกาศผลในวันที่ 19 สิงหาคม 2567


 มาร่วมสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย เพื่อผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไปกับ TikTok 


*แหล่งอ้างอิง

[1] Reports by the High-Tech Crime Division at the Cyber Crime Investigation Bureau